นิวรณ์5 ประการมารที่ขวางกั้นจิตสำหรับนักปฏิบัติ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย bigboom007, 30 มิถุนายน 2010.

  1. bigboom007

    bigboom007 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    319
    ค่าพลัง:
    +570
    นิวรณ์5 ประการ คือมารของนักปฏิบัติกรรมฐาน ทำให้นักปฏิบัติก้าวไม่ถึงความดีสำหรับนักปฏิบัติควรละอย่างยิ่ง เพื่อที่สมาธิจะได้บังเกิดเป็นเอกัตตาหรือที่เราเรียกว่า ฌาณ
    เป็นผู้หนึ่งที่ถูกนิวรณ์ 5 สังหาร รู้ว่าตนมีกิเลสค่ะ ได้อ่านเจอหนทางแก้ หากกระทำได้น่าจะเป็นผลดี เลยนำมาฝากไว้ให้อ่านกันค่ะ


    นิวรณ์ คือสิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ มี 5 อย่างคือ

    กามฉันทะ คือความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น)

    พยาปาทะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ

    ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะคือความหดหู่ท้อถอย และมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน
    ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง)

    อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้

    วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น

    นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้ มีเฉพาะอุทธัจจะเท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นอกนั้น เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอ

    นิวรณ์ทั้ง5 เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนาเลย ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ให้เรียนรู้ได้เสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจ ของจิตเช่นกัน


    ๏ วิธีแก้ไขนิวรณ์ 5

    เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นมีวิธีแก้ดังนี้คือ

    1.) กามฉันทะ แก้ได้หลายวิธีตามลักษณะของกามฉันทะที่เกิดขึ้น ดังนี้

    พิจารณาถึงความจริงที่ว่ากามคุณทั้งหลายนั้นมีสุขน้อยมีทุกข์มาก คือให้ความสุขในช่วงที่ได้มาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ติด ครั้นเมื่อติดในสิ่งนั้น ๆ แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะตามมา ถ้ายิ่งถูกใจมากเท่าใด ก็จะยิ่งนำความทุกข์มาให้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการแสวงหาเพื่อให้ได้มากยิ่งขึ้น ทุกข์จากการพยายามรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ ทุกข์จากความหวงแหน ความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป และเมื่อต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ก็จะยิ่งเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราทั้งหลายล้วนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

    พิจารณาถึงความที่สิ่งทั้งหลายมีความแปรปรวนไปตลอดเวลา สิ่งที่ให้ความสุขในวันนี้ ก็อาจจะนำความทุกข์มาให้ได้ในวันข้างหน้า เช่น คนที่ทำดีกับเราในวันนี้ ต่อไปถ้าเขาเบื่อ หรือไม่พอใจอะไรเราขึ้นมา เขาก็อาจจะร้ายกับเราอย่างมากก็ได้

    พิจารณาถึงความเป็นอสุภะ คือเป็นของไม่สวยไม่งาม เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ร่างกายที่เห็นว่าสวยงามในตอนนี้ จะคงสภาพอยู่ได้นานสักเท่าใด พอแก่ตัวขึ้นก็ย่อมจะหย่อนยาน เหี่ยวย่นไม่น่าดู ถึงแม้ในตอนนี้เอง ก็เต็มไปด้วยของสกปรกไปทั้งตัว ตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า (ไม่เชื่อก็ลองไม่อาบน้ำดูสักวันสองวันก็จะรู้เอง) ลองพิจารณาดูเถิด ว่ามีส่วนไหนที่ไม่ต้องคอยทำความสะอาดบ้าง และถ้าถึงเวลาที่กลายสภาพเป็นเพียงซากศพแล้วจะขนาดไหน

    พิจารณาถึงคุณของการออกจากกาม หรือประโยชน์ของสมาธิ เช่น

    เป็นความสุขที่ประณีต ละเอียดอ่อน เบาสบายไม่หนักอึ้งเหมือนกาม คนที่ได้สัมผัสกับความสุขจากสมาธิสักครั้ง ก็จะรู้ได้เองว่าเหนือกว่าความสุขจากกามมากเพียงใด

    เป็นความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอก เพราะเกิดจากความสงบภายใน จึงไม่ต้องมีการแย่งชิง ไม่ต้องยื้อแย่งแข่งขัน ไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย

    เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีวัตถุใดๆ มาเป็นเครื่องล่อ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

    2.) พยาปาทะ มีวิธีแก้ดังนี้

    มองโลกในแง่ดีให้เห็นว่าคนที่ทำให้เราไม่พอใจนั้น เขาคงไม่ได้ตั้งใจหรอก เขาคงทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเข้าใจผิด หรือถูกเหตุการณ์บังคับ ถ้าเขารู้หรือเลือกได้เขาคงไม่ทำอย่างนั้น

    คิดถึงหลักความจริงที่ว่า คนเราเมื่ออยู่ใกล้กัน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกใจคนอื่น ได้เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว เพราะคงไม่มีใครสามารถทำให้ถูกใจคนอื่นได้ตลอดเวลา แม้ตัวเราเองก็ยังเคยทำให้คนอื่นไม่พอใจเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อคนอื่นทำไม่ถูกใจเราบ้าง ก็ย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ควรจะถือโทษโกรธกันให้เป็นทุกข์กันไปเปล่าๆ

    พิจารณาถึงคุณของการให้อภัย ว่าอภัยทานนั้นเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นการทำบุญโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย

    คิดเสียว่าเป็นการฝึกจิตของตัวเราเองให้เข้มแข็งขึ้น โดยการพยายามเอาชนะใจตนเอง เอาชนะความโกรธ และขอบคุณผู้ที่ทำให้เราโกรธที่ให้โอกาสในการฝึกจิตแก่เรา ให้เราได้สร้างและเพิ่มพูนขันติบารมี

    คิดถึงเรื่องกฎแห่งกรรม ว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน ใครสร้างกรรมอันใดไว้ ย่อมต้องรับผลกรรมนั้นๆ สืบไป การที่เราเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีในครั้งนี้ ก็คงเป็นเพราะกรรมเก่าที่เราได้ทำเอาไว้ สำหรับคนที่ทำไม่ดีกับเราในครั้งนี้นั้น เขาก็จะได้รับผลกรรมนั้นเองในวันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ให้ความรู้สึกสงสารผู้ที่ทำไม่ดีกับเราในครั้งนี้ ว่าเขาไม่น่าทำอย่างนั้นเลย เพราะเมื่อเขาทำแล้ว ต่อไปเมื่อกรรมนั้นส่งผล เขาก็จะต้องเป็นทุกข์ทรมานเพราะกรรมนั้น

    พิจารณาโทษของความโกรธ ว่าคนที่โกรธก็เหมือนกับจุดไฟเผาตัวเอง ทำให้ต้องเป็นทุกข์เร่าร้อน หน้าตาก็ไม่น่าดู แถมยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็มีแต่คนโง่ กับคนบ้าเท่านั้นที่ผูกโกรธเอาไว้

    แผ่เมตตาให้กับคนที่เราโกรธ ถ้าทำได้นอกจากจะดับทุกข์จากความโกรธได้แล้ว ยังทำให้มีความสุขจากการแผ่เมตตานั้นอีกด้วย และยังจะเป็นการพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปด้วย

    3.) ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะคือความหดหู่ท้อถอยนั้นแก้โดย

    พิจารณาถึงโทษของกามและคุณของสมาธิ เพื่อทำให้เกิดความเพียร ในการปฏิบัติให้พ้นจากโทษของกามเหล่านั้น

    คบหากับคนที่มีความเพียร ฝักใฝ่ยินดีในการทำสมาธิ

    หลีกเว้นจากคนที่ไม่ชอบทำสมาธิ หรือคนที่เบื่อหน่ายในสมาธิ

    ส่วนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอนนั้น มีวิธีแก้หลายวิธี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระโมคคัลลานะ สรุปได้เป็นขั้นๆ ดังนี้

    ในขณะที่เพ่งจิตในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ เพื่อทำสมาธิหรือวิปัสสนาก็ตาม แล้วเกิดความง่วงขึ้นมา ให้เพ่งสิ่งนั้นให้มาก หรือให้หนักแน่นขึ้นไปอีก ก็จะทำให้หายง่วงได้

    ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ตรึกตรอง พิจารณาธรรมที่ได้อ่าน หรือได้ฟัง ได้เรียนมาแล้ว โดยนึกในใจ

    ถ้ายังไม่หายง่วงให้สาธยายธรรมที่ได้อ่าน ได้ฟัง หรือได้เรียนมาแล้ว คือให้พูดออกเสียงด้วย

    ถ้ายังไม่หายง่วงให้ยอนช่องหูทั้งสองข้าง (เอานิ้วไชเข้าไปในรูหู) เอามือลูบตัว

    ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ (คือให้มองไปทางโน้นทีทางนี้ที บิดคอไปมา)

    ถ้ายังไม่หายง่วง ให้ทำในใจถึงอาโลกสัญญา (นึกถึงแสงสว่าง) ตั้งความสำคัญในกลางวัน ว่ากลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด (คือให้ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า กลางคืนนั้นสว่างราวกับเป็นกลางวัน)

    ถ้ายังไม่หายง่วง ให้เดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก (ควรเดินเร็วๆ ให้หายง่วง)

    ถ้ายังไม่หายง่วงอีก ให้สำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า (เหมือนพระพุทธรูปนอน) มีสติสัมปชัญญะ โดยบอกกับตัวเองว่า ทันทีที่รู้สึกตัวตื่นแล้ว จะรีบลุกขึ้นทันที ด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ

    4.) อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต แก้โดย
    ใช้เทคนิคกลั้นลมหายใจ (เทคนิคนี้นอกจากจะใช้แก้ความฟุ้งซ่านได้แล้ว ยังใช้ในการแก้ความง่วงได้อีกด้วย) โดยการทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
    เริ่มจากการหายใจเข้าออกให้ลึกที่สุด โดยทำเหมือนถอนหายใจแรงๆ สัก 3 รอบ จากนั้นทำสิ่งต่อไปนี้พร้อมกันคือ ใช้ลิ้นดุนเพดานปากอย่างแรง หลับตาปี๋ เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และกล้ามเนื้อทั่วร่างกายให้มากที่สุด กลั้นลมหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมกับทำสมาธิ โดยกำหนดจิตไว้ที่การกลั้นลมหายใจนั้น เพิ่มความหนักแน่น หรือความถี่ของสิ่งที่ใช้ยึดจิตขึ้นไปอีก เพื่อให้สามารถประคองจิตได้ง่ายยิ่งขึ้น หรือลดโอกาสในการฟุ้งให้น้อยลง เช่น ถ้าตอนแรกใช้กำหนดลมหายใจเข้า/ออก โดยบริกรรมว่าพุทธ/โธ หรือ เข้า/ออก ซ้ำไปซ้ำมา ก็เปลี่ยนเป็นนับลมหายใจแทน โดยหายใจเข้านับ 1 ออกนับ 1 เข้า-2 ออก-2 ... จนถึง เข้า-10 ออก-10 แล้วเริ่มนับ 1 ใหม่ การนับนี้ให้ลากเสียง(ในใจ) ให้ยาวตั้งแต่เริ่มหายใจเข้าหรือออก จนกระทั่งสุดลมหายใจ เพื่อให้จิตเกาะติดกับเสียงนั้นไปตลอด

    ถ้ายังไม่หายก็เปลี่ยนเป็น เข้า-1 ออก-2 เข้า-3 ออก-4 ...... เข้า-9 ออก-10 แล้วเริ่มนับ 1 ใหม่

    ถ้ายังไม่หายอีกก็เปลี่ยนเป็นรอบแรกนับจาก 1จนถึง 10 (เหมือนครั้งที่แล้ว) รอบที่สองนับจาก 1 - 9 ลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือนับ 1 - 5 แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเป็น 1 - 6 ...... จนถึง 1 - 10 แล้วลดลงใหม่จนเหลือ 1 - 5 แล้วเพิ่มขึ้นจนถึง 1 - 10 กลับไปกลับมาเรื่อยๆ เพื่อให้ต้องเพิ่มความตั้งใจขึ้นอีก

    ถ้ายังไม่หายอีกก็เปลี่ยนเป็นนับเลขอย่างเร็ว คือขณะหายใจเข้าแต่ละครั้งก็นับเลข 1,2,3,... อย่างรวดเร็วจนกว่าจะสุดลมหายใจ พอเริ่มหายใจออกก็เริ่มนับ 1,2,3,... ใหม่จนสุดลมหายใจเช่นกัน ทั้งนี้ไม่ต้องไปกำหนดว่าตอนหายใจเข้า/ออกแต่ละครั้งจะต้องนับได้ถึงเลขอะไร เช่น หายใจเข้าครั้งแรกอาจจะนับได้ถึง 12 พอหายใจออกอาจจะได้แค่ 10 หายใจเข้าครั้งต่อไปอาจจะได้แค่ 9 ก็ได้

    *** ในการหายใจนั้นที่สำคัญคือให้หายใจให้เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด อย่าไปบังคับลมหายใจให้ยาวหรือสั้น บางขณะอาจหายใจยาว บางขณะอาจสั้นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน เรามีหน้าที่เพียงแค่สังเกตดูเท่านั้น

    *** ทำใจให้สบาย อย่ามุ่งมั่นมากเกินไปจนเครียด จะทำให้ฟุ้งซ่านหนักขึ้น ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วจะดีขึ้นเอง อย่าหวัง อย่ากำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนี้จะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยวางให้มากที่สุด ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน คือเพียงแค่สังเกตว่าตอนนี้เป็นอย่างไรก็พอแล้ว อย่าคิดบังคับให้สมาธิเกิด ยิ่งบีบแน่นมันจะยิ่งทะลักออกมา ยิ่งฟุ้งไปกันใหญ่

    *** ถ้านับเลขผิดให้เริ่มต้นนับ 1 ใหม่ แล้วดูว่าวันนี้จะนับได้มากที่สุดถึงแค่ไหน

    *** เมื่อนับถี่ที่สุดถึงขั้นไหนแล้วเอาจิตให้อยู่ได้ก็หยุดอยู่แค่ขั้นนั้น พอฝึกจิตได้นิ่งพอสมควรแล้ว ก็ลองลดการนับไปใช้ขั้นที่เบาลงเรื่อยๆ จิตจะได้ประณีตขึ้นเรื่อยๆ

    ส่วนกุกกุจจะคือความรำคาญใจ นั้นแก้ได้โดย
    พยายามปล่อยวางในสิ่งนั้นๆ โดยคิดว่าอดีตก็ผ่านไปแล้ว คิดมากไปก็เท่านั้น อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เรามาทำปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า ตอนนี้เป็นเวลาทำกรรมฐาน เพราะฉะนั้นอย่างอื่นพักไว้ก่อน ยังไม่ถึงเวลาคิดเรื่องเหล่านั้น
    ถ้าแก้ไม่หายจริงๆ ก็ไปจัดการเรื่องเหล่านั้นให้เรียบร้อย แล้วถึงกลับมาทำกรรมฐานใหม่ก็ได้

    5.) วิจิกิจฉา แก้ได้โดย พยายามศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุด
    ถ้ายังไม่แน่ใจก็คิดว่าเราจะลองทางนี้ดูก่อน ถ้าถูกก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าผิดเราก็จะได้รู้ว่าผิด จะได้หายสงสัย แล้วจะได้พิจารณาหาทางอื่นที่ถูกได้ ยังไงก็ดีกว่ามัวแต่สงสัยอยู่ แล้วไม่ได้ลองทำอะไรเลย ซึ่งจะทำให้ต้องสงสัยตลอดไป

    ที่มา : http://www.dhammatha...ncentrate01.php
     
  2. ขันธ์

    ขันธ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    7,917
    ค่าพลัง:
    +9,181
    ถูกแล้วครับ ที่ทำความรู้จักกับ นิวรณ์ จะได้ไม่ไหลตามมันไป

    เมื่อ จิตปราศจากนิวรณ์ แล้ว ก็ถือว่า ควรค่าแก่การงาน
     
  3. gatsby_ut

    gatsby_ut เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    821
    ค่าพลัง:
    +14,291
    [​IMG]
    อนุโมทนา สา.. ธุ ครับผม

    คำสอน ทั้งหลาย ถ้าไม่นำมา ประพฤษปฏิบัติ คำสอนนั้น จะมีค่าได้อย่างไร
     
  4. ขวัญดาว

    ขวัญดาว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    109
    ค่าพลัง:
    +577
    นิวรณ์ ตัวที่ 4.) อุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต ..เรากำลังโดนเต็มๆอ่ะค่ะ..
    เพื่อนๆใครโดนมั่งอ่ะ..เล่าประการณ์การแก้ไข ให้อ่านหน่อยนะคะ...

    สิ่งที่เราทำอยู่ก็คือ..คือ ยุส่งเลยค่ะ...
     
  5. ขันธ์

    ขันธ์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ตุลาคม 2006
    โพสต์:
    7,917
    ค่าพลัง:
    +9,181
    ลด การเข้าไป ดู ไปมอง ไปเห็น ไปได้ยิน สักระยะหนึ่ง เลิกปฏิสัมพันธ์ กับ คน ระยะหนึ่ง

    พักผ่อน ให้จิต สงบตัวลง วางเรื่องราวทั้งหมด ความกังวลทั้งหมดทิ้งไป แล้ว ใช้กำลังจิต กำกับ ให้ ความรู้สึกทั้งปวง อยู่กับ คำบริกรรม

    จะดับ นิวรณ์ อุทธัจจะ ลงไปได้
     
  6. ระฆังทอง

    ระฆังทอง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    29
    ค่าพลัง:
    +113
    อนุโมทนาครับ
    หากเราสามารถทำให้นิวณ์ไม่มารบกวนได้ ก็สามารถไปถึงเป้าหมายได้
    ไม่ได้ใช้เฉพาะเวลาสวดมนต์เท่านั้น ใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้
     
  7. กสิน9

    กสิน9 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    322
    ค่าพลัง:
    +270
    ก็ความอยากรู้อยากเห็นนั่นแหล่ะครับตัวดี ละให้สิ้น
     
  8. Tanunchapat

    Tanunchapat เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 ตุลาคม 2009
    โพสต์:
    631
    ค่าพลัง:
    +3,191

    โมทนา สาธุค่ะ ขอบคุณ จขกท มากๆนะคะอ่านแล้ว ตัวเองรู้สึกปิ๊ง ตัวขี้เกียจหายไปครึ่งกระบุง5555555

    น้อมรับคำชี้แนะค่ะคุณลุง และจะเพียรพยายามปฏิบัติให้ได้ค่ะ

    ขอกำลังใจจากพี่เลี้ยง ท่านพระอาจารย์ ท่านอาจารย์ทุกๆท่าน ทุกๆพระองค์ ของศิษย์ด้วยเจ้าค่ะ
     
  9. mukamon

    mukamon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    57
    ค่าพลัง:
    +596
    อนุโมทนาสาธุคะ

    นิวรณ์ 5 ถ้าเกิดขึ้นก็ดูนิวรณ์ตัวนั้น ดูจนกว่ามันดับไป ตัวไหนเกิดก็ดูมันมันต่อ ไม่ต้องเอาจิตไปรับอารมณ์ หรือปรุงแต่ง จะเกิดความรู้ ปัญญาจากการดูในสมาธิ
    นิวรณ์ 5 เป็นรูปนาม ดูเป็นก็เป็นปรมัตถธรรมนะคะ
     
  10. ตรงประเด็น

    ตรงประเด็น เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    309
    ค่าพลัง:
    +677
    โอวาทธรรม หลวงปู่ ชา สุภัทโท

    <!-- m -->::


    นิวรณ์ คือธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่ามี ๕ ประการ คือ

    ๑. กามฉันทะ ความพอใจในกาม
    ๒. พยาบาท ความคิดร้าย ขัดเคืองใจ
    ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม
    ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านกระวนกระวาย กลุ้มใจร้อนใจ
    ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

    หลวงพ่อท่านให้ภาวนาตั้งท่าทีทัศนะต่อนิวรณ์ที่กำลังรุมเร้ารบกวนจิตใจอยู่ว่า เป็นครูบาอาจารย์หรือเครื่องทดสอบสติปัญญาของตน มากกว่าที่จะมองเห็นนิวรณ์เป็นตัวศัตรูที่น่าเกลียด อันอาจทำให้เกิดความตึงเครียดเป็น วิภวตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้ความไม่อยากให้นิวรณ์นั้นอยู่ในใจของตนทุกข์เพิ่มทวี อีกวิธีการหนึ่งที่หลวงพ่อสอนสำหรับแก้องค์นิวรณ์ คือคำว่า “ไม่แน่”

    “เมื่อมันเกิดอะไรขึ้นมาในใจของเรานี่ มันเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ที่เราชอบใจก็ตาม เราเห็นว่ามันผิดมันถูกก็ตามเถอะ ให้เราตัดมันไปเลยว่า อันนั้นมันไม่แน่ จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ช่างมันเถอะ สับมันลงไป ไม่แน่ ไม่แน่ อย่างเดียว ขวานเล่มเดียวสับลงไป ไม่แน่ทั้งนั้นแหละ มันแน่ตรงที่ไหนล่ะ ถ้าเห็นว่ามันไม่แน่ ทุกสิ่งทุกอย่าง ราคามันก็น้อยลง อารมณ์ทั้งหลายมันเป็นของที่ไม่มีราคาแล้ว ของที่ไม่มีราคาแล้วเราจะเอาไปทำไม”

    นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้พูดถึงนิวรณ์แต่ละอย่างไว้ด้วย คือ

    ๑. กามฉันทะ

    การบรรเทาความใคร่ในกามให้เบาบางลง ต้องใช้หลายวิธีด้วยกัน เพื่อควบคุมการคึกคะนองของจิต สิ่งที่หลวงพ่อเน้นอยู่เสมอ คือการกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ความเป็นผู้มีอินทรีย์สังวร การเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค และใช้อสุภกรรมฐานเป็นอุบายเครื่องแก้

    ท่านบอกว่า กามราคะจะบรรเทาลงได้ ด้วยการพิจารณาไตร่ตรองถึงความน่าเกลียดโสโครก การหลงติดอยู่ในรูปกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองให้เห็นสิ่งตรงข้าม จงพิจารณาร่างกายเหมือนซากศพและเห็นการเปลี่ยนแปลงเปื่อยเน่า หรือพิจารณาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ม้าม ไขมัน อุจจาระ และอื่นๆ จำอันนี้ไว้แล้วพิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย เมื่อมีกามเกิดขึ้น ก็ช่วยให้เอาชนะกามราคะได้ เห็นเมื่อใดก็เท่ากับมองซากศพ เห็นผู้หญิงก็ซากศพ เห็นผู้ชายก็ซากศพ ตัวเราเองก็เป็นซากศพด้วยเหมือนกัน พยายามเจริญให้มาก บำเพ็ญให้อยู่ในใจนี้มากขึ้นอีก ท่านบอกว่ามันสนุกจริงๆ ถ้าเราทำ แต่ถ้ามัวอ่านแต่ตำราอยู่มันยาก ต้องทำเอาจริงๆ ทำให้มีกรรมฐานในใจเรา

    ๒. พยาบาท

    ต่อเรื่องนี้ มีพระลูกศิษย์ผู้มีโทสจริตรูปหนึ่ง กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า

    “เมื่อผมโกรธควรจะทำอย่างไรครับ”

    “ท่านต้องแผ่เมตตา ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนาให้แก้ด้วยการแผ่เมตตา ถ้าใครทำไม่ดีหรือโกรธก็อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์ จงมีเมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก เมตตาเท่านั้นที่จะเอาชนะโทสะและความเกลียดได้”

    บางครั้งนิวรณ์ตัวนี้เกิดขึ้นในลักษณะความไม่พอใจ หรือขัดเคืองกับการปฏิบัติของตัวเอง หลวงพ่ออธิบายว่า

    “ใจวุ่นวาย ทำไมจึงวุ่นวาย เพราะมีตัณหา ไม่อยากให้คิด ไม่อยากให้มีอารมณ์ ความไม่อยากนี่แหละตัวอยาก คือวิภวตัณหา ยิ่งไม่อยากเท่าไรมันยิ่งชวนกันมา เราไม่อยากมันทำไมจึงมา ? ไม่อยากให้มันเป็นทำไมมันเป็น ? นั่นแหละเราอยากให้มันเป็นเพราะเราไม่รู้จักใจเจ้าของ (ตัวเอง)”

    ๓. ถีนมิทธะ

    พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบการถูกถีนมิทธนิวรณ์ครอบงำจิตว่า เสมือนการถูกกักขังไว้ในเรือนจำ มืดมิดอึดอัด ไม่เป็นอิสระ นิวรณ์ตัวนี้ทำให้นักปฏิบัติจำนวนไม่น้อยต้องหนักอกหนักใจ แต่อุบายในการแก้ไขความง่วงมีอยู่มากมายหลายวิธี หลวงพ่อกล่าวว่า

    “มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้านั่งอยู่ในที่มืด ย้ายไปอยู่ที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้า

    ตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำ ถ้ายังง่วงอยู่อีก ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินให้มากหรือเดินถอยหลัง ความกลัวว่าจะเดินไปชนเอาอะไรเข้าจะทำให้หายง่วง ถ้ายังง่วงอยู่จงยืนนิ่งๆ ทำใจให้สดชื่น และสมมติว่าขณะนั้นสว่างเป็นกลางวัน หรือนั่งบนหน้าผาสูงหรือบ่อลึก จะไม่กล้าหลับ ถ้าทำอย่างๆ ก็ไม่หายง่วง ก็จงนอนเสีย เอนกายลงอย่างสำรวมระวัง และรู้ตัวอยู่จนกระทั่งหลับไป เมื่อรู้สึกตัวตื่นจงลุกขึ้นทันที อย่ามองดูนาฬิกาแล้วพลิกไปพลิกมา เริ่มต้นมีสติ ระลึกรู้ทันทีที่ตื่น

    ถ้าง่วงนอนอยู่ทุกวัน ลองฉันอาหารน้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าอีก ๕ คำจะอิ่ม หยุดแล้วดื่มน้ำจนอิ่มพอดี แล้วกลับไปนั่งดูต่ออีก เฝ้าดูความง่วงและความหิว กะฉันอาหารให้อิ่มพอดี เมื่อฝึกปฏิบัติต่อไปอีก จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นและฉันน้อยลง ต้องปรับตัวเองให้ได้”

    ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ

    หลวงพ่อบอกว่า เวลาฟุ้งซ่านให้ตามดูว่าจิตของเรามันฟุ้งไปที่ไหน

    “...ถ้ามันแวบไปแวบมา ก็ว่ามันแวบไปแวบมา ถ้ามันนิ่งเฉยๆ ก็ว่านิ่งเฉยๆ จะเอาอะไรล่ะ ให้รู้เท่าทันมันทั้งสองอย่าง วันนี้มันมีความสงบก็คิดว่า มันมาให้ปัญญาเกิด แต่บางคนเห็นว่าสงบนี่ดีนะ ชอบ ดีใจ วันนี้ฉันทำสมาธิมันสงบดีเหลือเกิน แน่ะ อย่างนี้ เมื่อวันที่สองมาไม่ได้เรื่องเลย วุ่นวายทั้งนั้นแหละ แน่ะ วันนี้ไม่ดีเหลือเกิน

    เรื่องดีไม่ดีมันมีราคาเท่ากัน เรื่องดีมันก็ไม่เที่ยง เรื่องไม่ดีมันก็ไม่เที่ยง จะไปหมายมั่นมันทำไม ? มันฟุ้งซ่านก็ดูมันฟุ้งซ่านไปซิ มันสงบก็ดูมันสงบซิ อย่างนี้ให้ปัญญามันเกิด มันเป็นเรื่องของมันจะเป็นอย่างนี้ เป็นอาการของจิตมันเป็นอย่างนั้น เราอย่าไปยุ่งกับมันมากซิ ลักษณะอันนั้นอย่างเราเห็นลิงตัวหนึ่งนะ มันไม่นิ่งใช่ไหม โยมก็ไม่สบายใจเพราะลิงมันไม่นิ่ง มันจะนิ่งเมื่อไร โยมจะให้มันนิ่งโยมถึงจะสบายใจ มันจะได้เรื่องของลิงนะ ลิงมันเป็นเช่นนี้ ลิงที่กรุงเทพฯ มันก็เหมือนลิงตัวนี้แหละ ลิงที่อุบลราชธานีก็เหมือนลิงที่กรุงเทพฯ นั่นแหละ ลิงมันเป็นอย่างนั้นของมันเอง ก็หมดปัญหาเท่านั้นแหละ เอาอย่างนี้แหละจะได้หมดปัญหาของมันไป อันนี้ลิงก็ไม่นิ่ง เราก็เป็นทุกข์อยู่เสมอ อย่างนั้นก็ตายเท่านั้นแหละ เราเป็นลิงยิ่งกว่าลิงเสียแล้วกระมัง”

    ๕. วิจิกิจฉา

    ความลังเลสงสัย เป็นนิวรณ์ที่มักเป็นอุปสรรคสำคัญของนักปฏิบัติ ที่มีการศึกษาในระดับสูง เพราะการศึกษาทางโลกทำให้คนคิดมากขึ้น รู้จักเปรียบเทียบ วิเคราะห์วิจัย ใช้เหตุผล ซึ่งมีประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน แต่โทษที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ผู้รู้มากมักสงสัยมาก นักปฏิบัติพวกนี้ตกเป็นเหยื่อของนิวรณ์ตัวนี้ จึงเป็นนักภาวนาจับจด ไม่เอาจริงเอาจัง หลวงพ่อเปรียบเทียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าฟัง คือ

    “ผลไม้หนึ่งผล รสผลไม้มันหวาน เราก็รู้จัก มันหอมเราก็รู้จัก รู้จักทุกอย่าง แต่ว่ามันขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่รู้จักชื่อของผลไม้ว่าชื่ออะไร สิ่งนี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ของจำเป็นอะไรหรอก ถ้าเรารู้จักว่าผลไม้ชื่ออะไร มันก็ไม่เพิ่มความหวานขึ้นมาอีก รสชาติก็ยังเหมือนเดิมอยู่ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงเหตุที่ควรจะรู้ก็ให้รู้ เหตุที่ไม่ควรจะรู้ก็ไม่ต้องรู้ ไม่รู้ชื่อของมันก็ไม่เป็นไร รสของมันเรารู้แล้ว...เรื่องชื่อก็ไม่จำเป็นเท่าไร ถ้ามีใครมาบอกก็รับไว้ แต่ถ้าไม่มีใครมาบอกก็อย่าเดือดร้อน”
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 กรกฎาคม 2010
  11. ตรงประเด็น

    ตรงประเด็น เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    309
    ค่าพลัง:
    +677
    วิสัชชนาธรรม เกี่ยวกับ วิจิกิจฉา อีกจุดหนึ่ง
    เผื่อใครยังไม่เคยอ่าน

    โอวาทธรรม หลวงปู่ ชา สุภัทโท

    ปุจฉา ผมควรจะทำอย่างไรครับเมื่อผมสงสัย บางวันผมวุ่นวายใจด้วยความสงสัยในเรื่องการปฏิบัติ หรือในความคืบหน้าของผม หรือ ในอาจารย์

    วิสัชชนา ความสงสัยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกคนเริ่มต้นด้วยความสงสัย ท่านอาจได้เรียนรู้อย่างมากมายจากความสงสัยนั้น

    ที่สำคัญก็คือ ท่านอย่าถือเอาความสงสัยนั้นเป็นตัวเป็นตน
    นั่นคือ อย่าตกเป็นเหยื่อของความสงสัย ซึ่งจะทำให้จิตใจของท่านหมุนวนเป็นวัฏฏะอันไม่มีที่สิ้นสุด

    แทนที่จะเป็นเช่นนั้น
    จงเฝ้าดูกระบวนการเกิดดับของความสงสัยของความฉงนสนเท่ห์ดูว่าใครคือผู้ที่สงสัย ดูว่าความสงสัยนั้นเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร แล้วท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความสงสัยอีกต่อไป ท่านจะหลุดพ้นออกจากความสงสัย และจิตของท่านก็จะสงบ ท่านจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร

    จงปล่อยวางสิ่งต่างๆที่ท่านยึดมั่นอยู่ ปล่อยวางความสงสัยของท่าน และ เพียงแต่เฝ้าดู
    นี่คือที่สิ้นสุดของความสงสัย
     
  12. ตรงประเด็น

    ตรงประเด็น เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    309
    ค่าพลัง:
    +677
    โพชฌงคสังยุตต์ - ๑. ปัพพตวรรค - กายสูตร

    พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน

    กายสูตร
    อาหารของนิวรณ์ ๕

    [๓๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร
    ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด นิวรณ์ ๕ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

    [๓๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร ให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
    หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศุภนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง อโยนิโสมนสิการในศุภนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้กามฉันท์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

    [๓๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ
    ที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิฆนิมิตมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่ง
    อโยนิโสมนสิการในปฏิฆนิมิตนั้น นี้เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

    [๓๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้ถิ่นมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
    หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร ความที่ใจหดหู่ มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

    [๓๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
    หรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่สงบใจมีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในความไม่สงบใจนั้น นี้เป็นอาหารให้อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

    [๓๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ
    ที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉามีอยู่การกระทำให้มากซึ่งอโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นหรือที่เกิดแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น.

    [๓๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร
    ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร ไม่มีอาหารดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
     
  13. ตรงประเด็น

    ตรงประเด็น เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤศจิกายน 2009
    โพสต์:
    309
    ค่าพลัง:
    +677
    ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน.

    นีวรณบรรพ.

    [๑๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่อย่างไรเล่า?
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์ ๕
    ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์๕ อย่างไรเล่า?

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกามฉันทะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันทะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อกามฉันทะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันทะไม่มีอยู่
    ณ ภายในจิตของเรา
    อนึ่ง กามฉันทะที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย กามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย กามฉันทะที่ละ
    ได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย


    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อพยาบาทไม่มีอยู่ ณภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า พยาบาทไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
    อนึ่ง พยาบาทที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัด ประการนั้นด้วย พยาบาทที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย พยาบาทที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า ถีนมิทธะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่าถีนมิทธะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
    อนึ่ง ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใดย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย ถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะมีอยู่ ณ ภายในจิตของเราหรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า อุทธัจจกุกกุจจะไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
    อนึ่ง อุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย อุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วยอุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

    อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉามีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา หรือเมื่อวิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต ย่อมรู้ชัดว่า วิจิกิจฉาไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา
    อนึ่ง วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย วิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย วิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

    ดังพรรณนามาฉะนี้
    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง
    พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง
    พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
    พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่

    อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า
    พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ นิวรณ์ ๕ อยู่.
     
  14. mukamon

    mukamon เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    57
    ค่าพลัง:
    +596

แชร์หน้านี้

Loading...