สามเณรรูปนั้นชื่อกรุณา

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 19 สิงหาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    อาจารย์กรุณา กุศลาสัย เพิ่งล่วงลับไป ทิ้งไว้แต่ผลงานเชิง “ภารตวิทยา” มากมายไว้เป็นมรดกความทรงจำของโลกสืบไป

    แม้โดยส่วนตัวผู้เขียน ไม่ได้รู้จักกับอาจารย์เป็นการส่วนตัว แต่แปลกที่กลับรู้สึกสนิทสนมดังหนึ่งเป็นคนคุ้นเคยระดับวงในของท่านเอง ความรู้สึกเช่นนี้นับเป็นความผูกพันทางจิตวิญญาณโดยแท้
    [​IMG]เมื่อแรกอ่านแรกเขียนแรกเรียนรู้ ผู้เขียนยังเป็นสามเณรน้อยอยู่ จ.เชียงราย หลงใหลการอ่านมาแต่เมื่อยังไม่บวชเรียน ครั้นได้บวชเรียนแล้ว ก็ได้ค้นพบโลกแห่งการอ่านที่แสนรื่นรมย์จากห้องสมุดวัด จากนั้นก็จากห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัด และจากร้านหนังสือตามลำดับ
    กว่าจะเก็บเงินแต่ละบาทมาซื้อหนังสือได้ ก็ต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับว่าจะมีญาติโยมถวายปัจจัยในแต่ละวันหรือไม่ เช้าวันไหนไปบิณฑบาตแล้วมีโยมตักบาตรพร้อมทั้งมอบปัจจัยไว้ให้เป็นทุนการศึกษาติดมาด้วย ก็ต้องถือว่าโชคดีมากในเช้าวันนั้น เพราะผู้เขียนใช้ปัจจัยทุกบาทเป็นทุนการศึกษาจริงๆ นั่นคือ ทุกครั้งได้เงินมา ก็จะเปลี่ยนเงินเป็นปัญญาในแทบจะทันที
    ด้วยนิสัยรักการอ่านที่หยั่งรากลึก จึงทำให้ผู้เขียนมีตู้หนังสือเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย ยังจำความรู้สึกตอนนั้นได้ดี วันนั้นเป็นวันที่รวบรวมเงินได้ 600 บาท นำไปซื้อตู้หนังสือที่ร้านขายเฟอร์นิเจอร์หลังวัด ได้ตู้มาแล้ว ก็ดีใจนักหนา หยิบเล่มนั้น หยิบเล่มนี้ขึ้นวาง วางอย่างไรก็ไม่เต็มสักที จึงไปยืมหนังสือหลวงพ่อเจ้าอาวาสมาเพิ่มจนเต็มตู้ พอหนังสือเต็มตู้แล้วก็ยังไม่หายปรีดาปราโมทย์ จึงไปขอให้เพื่อนช่วยมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน จำได้อีกว่า คืนนั้นก่อนนั้น ได้แกะจีวรใหม่ผืนหนึ่งมาคลุมตู้หนังสือเอาไว้ เพราะกลัวจะเปื้อนฝุ่น คืนนั้น นับเป็นคืนที่เณรน้อยรูปนั้นหลับฝันดีที่สุดคืนหนึ่ง
    อยู่ต่อมาปริมาณหนังสือในตู้ของผู้เขียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่ง หนังสือที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้เขียนเล่มหนึ่ง (ในบรรดาหลายๆ เล่ม) ก็เดินทางมาถึงนั่นคือ หนังสือชื่อ “พุทธทาสรำลึก”
    เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยประมวลจดหมายที่ “พุทธทาสภิกขุ” มหาปราชญ์คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของไทยเขียนติดต่อกันกับสามเณรน้อยรูปหนึ่ง ซึ่งไปศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศอินเดีย สามเณรรูปนี้เป็นผู้ที่ท่านพุทธทาสภิกขุ รักใคร่สนิทสนมเป็นอันมาก ถึงกับใช้สรรพนามเรียกว่า “น้องชายโดยธรรม”
    อาจารย์กรุณา กุศลาสัย ปราชญ์ที่พวกเราเคารพรักในเวลาต่อมานั่นเอง คือ “น้องชายโดยธรรม” ที่ท่านพุทธทาสเขียนจดหมายถึง ขณะนั้นทั้งสองท่านยังไม่เคยพบกัน คนหนึ่งเป็นพระภิกษุหนุ่มใหญ่ ที่ตัดสินใจออกจากกรุงเทพฯ กลับมาตั้งต้นฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอยู่ที่บ้านเกิด ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และเริ่มออกหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” เป็นเครื่องมือสำหรับการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่สาธารณชน และหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เองที่สามเณรกรุณา ได้อ่าน และเริ่มเขียนบทความส่งตรงมาจากอินเดียแดนมาตุภูมิของพระพุทธศาสนา
    ความผูกพันของพี่น้องทางธรรมทั้งคู่ที่บอกเล่าผ่านจดหมายประมาณ 15 ฉบับในหนังสือ “พุทธทาสรำลึก” เล่มนั้น ทำให้ผู้เขียนรู้สึก “มีส่วนร่วม” ดังหนึ่งได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพี่น้องทางธรรมคู่นั้นไปโดยปริยาย หลังจากรู้จักสามเณรกรุณา กุศลาสัย ซึ่งเป็นน้องชายโดยธรรมของพุทธทาสคราวนั้นแล้ว ผู้เขียนก็มองหาหนังสือที่เขียนและแปลโดยอาจารย์กรุณามาอ่าน มาศึกษา มาเก็บไว้ด้วยใจรักจนกล่าวได้ว่า ผลงานเกือบทุกเล่มที่อาจารย์แปลและเขียนออกมานั้น ผู้เขียนมีเก็บไว้ในตู้หนังสือส่วนตัวทั้งหมด
    ความรู้เรื่อง “ภารตวิทยา” ที่กลั่นมาจากหนังสือชื่อ “มหาภารตยุทธ, คีตาญชลี, ข้าพเจ้าทดลองความจริง, ชีวประวัติของข้าพเจ้า, วาทะคานธี, พุทธจริต, ดังหนึ่งนกที่จากรัง, อินเดียอนุทวีปที่น่าทึ่ง, พระเจ้าอโศก, ชีวิตที่เลือกไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น ทำให้ผู้เขียนรู้จักผืนแผ่นดินอินเดียอย่างเต็มอิ่มก่อนที่จะได้มีโอกาสไปเยือน ไปอยู่ ด้วยตัวเองในเวลาต่อมาหลังจากนั้นอีกหลายปี
    วรรณกรรมซึ่งเกิดจากแรงงานสมองและปัญญาของอาจารย์กรุณานั้น เป็นวรรณกรรมระดับ “ครู” ที่ไม่เพียงแต่จะอ่านเอา “รสความ” เท่านั้น ทว่าทุกครั้งที่อ่าน ผู้เขียนยังแอบซึมซับรับเอา “รสคำ” อันแสนสละสลวยมาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์งานในเวลาต่อมาอีกด้วย
    เมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง อาจารย์กรุณา ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ผู้เขียนร่วมบูชาครูในคราวนั้นด้วยการบอกเล่าถึงความเป็นเลิศของอาจารย์ผ่านรายการโทรทัศน์กว่าหนึ่งชั่วโมง ทั้งยังได้จัดทำเป็นวีซีดีออกเผยแผ่ให้แพร่หลายอีกต่างหาก ซึ่งผลงานคราวนั้น ทำให้ในเวลาต่อมาผู้เขียนได้รู้จักกับลูกสาวของอาจารย์ และยังได้สนิทกันมาจนถึงปัจจุบัน
    ชีวิตเล็กๆ ของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย เป็นชีวิตที่เอื้อให้เกิดความดีงามขึ้นมาอีกมากมายในชีวิตของคนอื่น อย่างน้อยก็ในชีวิตของผู้เขียนคนหนึ่งละที่ถือเอาอาจารย์เป็นครูบาอาจารย์อย่างสนิทใจทั้งๆ ที่ไม่เคยเจอตัวจริงกันมาเลยตลอดชีวิต
    ชีวิตที่เข้าถึงความดี ความงาม ความจริง และช่วยส่องทางให้ชีวิตอื่นๆ เข้าถึงความดี ความงาม ความจริง เช่นเดียวกับตัวเองเช่นนี้ นับเป็นชีวิตที่คุ้มค่า ไม่ง่ายเลยที่ใครจะสามารถใช้ชีวิตซึ่งได้มาอย่างเปล่าเปลือยในเบื้องต้น ให้เป็นชีวิตที่กลายเป็นแรงบันดาลใจแก่เพื่อนมนุษย์ในภายหลัง แต่อาจารย์กรุณา สามารถทำเช่นนั้นได้ อาจารย์กรุณา กุศลาสัย จึงเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง และความยิ่งใหญ่ของอาจารย์แทบไม่เกี่ยวกับเงินทองแต่อย่างใด

     
  2. โป๊ยเซียนสาว

    โป๊ยเซียนสาว เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,543
    ค่าพลัง:
    +2,279
    เหมือนคำที่ว่า "ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน"
    นรชาติสิวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
    สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา




    .
     

แชร์หน้านี้

Loading...