อานิสงส์การถวายสังฆทาน วิหารทาน และธรรมทาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 29 กรกฎาคม 2008.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    ผู้ถาม : "หลวงพ่อคะ ถวายสังฆทานให้พระองค์เดียวได้ไหมคะ.?"
    หลวงพ่อ : "ได้ แต่พระไปกินองค์เดียวพระองค์นั้นลงนรก นี่เรื่องจริงนะ อย่างฉันรับนี่ฉันรับองค์เดียว แต่ว่าองค์เดียวนี่ถือว่าเป็นผู้แทนคณะสงฆ์นะ อย่าไปกินไปใช้แต่ผุ้เดียวนี่ไม่ได้ ของเขาย่อมมีอานิสงส์สมบูรณ์แบบ พระองค์เดียวหรือพระ 3 องค์ ถือว่าเป็นตัวแทนสงฆ์ พระ 3 องค์ก็แบ่งไปใช้แค่ 3 องค์ไม่ได้ จะต้องไปรวมทั้งคณะ คำว่า สังฆทาน สังฆะ เขาแปลว่า หมู่"

    ผู้ถาม : "ลูกเป็นคนยากจนมีเงินน้อย อยากจะได้อานิสงส์มาก ๆ จะทำบุญอย่างไรดีคะ...?"
    หลวงพ่อ : " คืออานิสงส์จริง ๆ ต้องทำบุญให้มากที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ สมมุติว่าเรามีเงินอยู่ 10 บาท จะไปมาที่นี่เสียค่ารถ 6 บาท กินก๋วยเตี๋ยว 3 บาท ได้ครึ่งชามแล้ว หมดไป 9 บาท เหลือ 1 บาท เขียนที่หน้าซองเลยว่า เงินนี้ถวายสังฆทาน วิหารทาน และ ธรรมทาน อันนี้อานิสงส์มากเหลือเกิน จำนวนเงินเขาไม่จำกัด เขาจำกัดกำลังใจ ถ้ากำลังใจมุ่งด้านดีนะ
    การทำบุญมาก ๆ คำว่า "ทำมาก" หมายความว่า ทำบ่อย ๆ แต่คำว่า "บ่อย" ไม่ต้องทุกวันก็ได้นะ คำว่า "มาก" หมายความว่า ทำเต็มกำลังที่พึงทำ ไม่ใช่ขนเงินมามาก เวลาทำบุญ ต้องดูก่อนว่า ค่าใช้จ่ายเรามีความจำเป็นเพียงไร ไอ้เงินที่มีความจำเป้นอย่านำมาทำบุญ มันจะเดือดร้อนภายหลัง และให้เหลือส่วนนั้นไว้บ้า แล้วแบ่งทำบุญพอสมควร
    และประการที่ 2 การทำบุญถ้าใช้วัตถุมาก แต่กำลังใจน้อยก็มีอานิสงส์น้อย ถ้าหากใช้วัตถุน้อยกำลังใจมีมากก็มีอานิสงส์มาก อย่างถวายสังฆทานที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทนำมานี่ ลงทุนไม่มาก แต่อานิสงส์มหาศาล
    ความจริง ถ้าจะพูดถึงอานิสงส์กันจริง ๆ ละก็ รู้สึกว่าจะมากกว่าจัดงานที่บ้านหรือที่วัดตั้งเยอะแยะ ทั้งนี้เพราะว่าอะไร เพราะว่าถวายสังฆทานเราทำกันแบบเงียบ ๆ ไม่มีกังวล การบำเพ็ญกุศลแต่ละคราว ถ้ามีกังวลมาก อานิสงส์มันก็น้อย เพราะว่าจิตที่เราเข้าสู่กุศล มันห่วงงานอื่นมากกว่า ไม่ตั้งจิตโดยเฉพาะ
    และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายสังฆทานในหมู่ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ตามพระวินัยท่านเรียกว่า คณะสงฆ์ ถ้าต่ำกว่านั้นเป็น คณะบุคคล ถ้าบุคคลเดียวเป็ฯ ปาฏิปุคคลิกทานทานโดยเฉพาะ ทีนี้การถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์เป็นหมู่นี้มีอานิสงส์มาก
    เรื่องนี้ก็ตัวอย่างคนที่มีทรัพย์น้อยทรัพย์มาก อย่าง ท่านอินทกะเทพบุตร กับ อังกุระเทพบุตร ไงล่ะ
    ท่านอังกุระเทพบุตร ทำบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา เวลานั้นพระพุทธศาสนาไม่มี ตั้งโรงทาน 80 โรง ให้ทานถึงหมื่นปี เลี้ยงคนกำพร้า คนตกยาก คนเดินทาง พอตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็น เทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทวดาที่มีบุญน้อยที่สุดเพราะเขตของบุญเล็กไป คนไร้ศีลไร้ธรรม ใช่ไหม..?
    ตรงกันข้าม ท่านอินทกะเทพบุตร เกิดเป็นคนจน พ่อตาย ตัดฟืนเลี้ยง แม่ ก็ไม่ได้ตัดขายมากมาย เอาแค่วัน ๆ พอกินพอใช้ไปวัน ๆ วันหนึ่งพระสงฆ์เดินผ่านไปที่นั้น ท่านมีโอกาสได้ถวายทานในฐานะไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน คนจนจะมีอะไรมากนักใช่ไหมล่ะ เพียงแค่ครั้งเดียว ในชีวิตเท่านั้น อาศัยคุณความกตัญญูรู้คุณอย่างหนึ่ง แล้วก็ถวายสังฆทานหนึ่ง สองอย่างด้วยกัน ตายแล้วไปเป็นเทวดาที่มีบุญมากที่สุดในดาวดึงส์ นอกจากพระอินทร์แล้วไม่มีใครโตกว่า"
    การทำบุญใส่บาตร
    ผู้ถาม : "การที่เราทำบุญใส่บาตรตามหน้าบ้านกับพระที่เรารู้จักตามวัด แล้วไปทำที่วัด อันไหนจะมีอานิสงส์มากกว่ากันเจ้าคะ.?"
    หลวงพ่อ : "คือว่า การใส่บาตรตามหน้าบ้านไม่เฉพาะเจาะจง พระอะไรมาก็ใส่ อย่างนี้ก็เป็นสังฆทาน ทีนี้ไปใส่บาตรตามที่พระชอบ ใช่ไหม..?"

    ผู้ถาม : "ไม่ใช่ชอบค่ะ คือว่าศรัทธาค่ะ"
    หลวงพ่อ : "ชอบกับศรัทธาก็ครือ ๆ กันละ ถ้าศรัทธาฉันตั้งแต่ 4 องค์ขึ้นไป เป็นสังฆทานมีอานิสงส์เหมือนกัน แต่ถ้าหากท่านฉันตั้งแต่ 1 องค์ ถึง 3 องค์ อย่างนี้เป็น "ปาฏิปุคคลิกทาน""

    ผู้ถาม : "มีอานิสงส์มากไหมคะ..?"
    หลวงพ่อ : "มีโยม ถ้าเป็นปาฏิปุคคลิกทาน ถ้าวัดกันตามลำดับแย่นะ ไล่เบี้ยตั้งแต่ให้ทานกับคนไม่มีศีล จนถึงพระอรหันต์มีอานิสงส์ไม่เท่ากัน แต่จะพูดสรุปโดยย่อว่า
    ถวายทานกับพระอรหันต์ 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานกับพระพุทธเจ้า 1 ครั้ง
    ถวายทานกับพระพุทธเจ้า 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน 1 ครั้ง
    และถ้าถวายสังฆทาน 100 ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายวิหารทาน 1 ครั้ง คือ สร้างวิหาร มีการก่อสร้าง เช่น สร้างส้วม ศาลาการเปรียญ กุฏิ โบสถ์ วิหาร เป็นต้น
    การถวายสังฆทาน 1 ครั้งในชีวิต และถวายด้วยจิตที่บริสุทธิ์มีศรัทธาแท้ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ผลของสังฆทานนี้จะดลบันดาลให้แก่บุคคลผู้ถวาย เกิดไปทุกชาติ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจ ไม่มี ในแดนใดที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากขัดสน คนที่ถวายสังฆทานแล้วจะไม่เกิดในที่นั้น ผลที่ให้ไปไกลมาก ท่านกล่าวว่า แม้แต่พระพุทธญาณเอง ก็ยังไม่เห็นผลที่สุดของการถวาย สังฆทาน
    คำว่า "ไม่เห็นที่สุดของการถวายสังฆทาน" หมายความว่า แม้แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของสังฆทาน บำเพ็ยบารมีแล้ว แล้วเกิดไปอีกกี่แสนชาติก็ตาม จนกระทั่งเข้าพระนิพพาน อานิสงส์นั้นก็ยัง ไม่หมด นี่เป็นอำนาจของการถวายสังฆทาน
    ฉะนั้นการถวายทานเป็นส่วนบุคคล กับถวายเป็นสังฆทาน อานิสงส์มันต่างกันหลายแสนเท่า แล้วก็ยังมีอีกเวลาหนึ่ง ถ้าพระออกจาก สมาบัติ นี่คูณหนักเข้าไปอีกไม่รู้เท่าไร
    ทีนี้การถวายสังฆทานแก่พระมีผลไม่เสมอกันอยู่อย่างหนึ่งคือ หมายความว่าถวายทานแก่ พระที่มีจิตกำลังฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจของนิวรณ์ 5 ประการ อย่างนี้ เราถวายกี่หมื่นกี่แสนอานิสงส์มันก็ไม่มาก
    ถ้าหากว่าถวายแก่ท่านผู้ปฏิบัติกรรมฐาน ถ้าหากเข้าถึงจิตบริสุทธิ์ เรื่องบริสุทธิ์แค่ไหนก็ช่าง อย่างน้อยที่สุดก็มี ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ บางท่านก็เข้าถึง ฌานสมาบัติ บางท่านที่เป็น พระอริยเจ้า หมายความว่าให้คนเดียวนะ ก็ให้ผลปัจจุบันทันด่วนได้ผลวันนั้นเลย"

    ผู้ถาม : "แล้วอย่างการใส่บาตรโดยเราลงมือใส่เอง กับให้ลูกจ้าง คือ เด็กของเราใส่แทน อย่างไหนจะได้บุญมากกว่าคะ..?"
    หลวงพ่อ : "เราไปไม่ได้แต่ให้คนอื่นไป ได้บุญเท่ากัน แต่เราใส่เอง เราเกิดความปลื้มใจอันนี้ได้กำไรอีกนิด แต่ผลของทานมันเสมอกัน"

    ผู้ถาม : "เวลาเราใส่บาตรไปแล้ว ถ้าหากว่าพระไม่ได้ฉันอาหารของเรา เราจะได้บุญไหมคะ..?"
    หลวงพ่อ : "บุญมันเริ่มได้ตั้งแต่คิดว่าจะให้แล้วนะ พระจะฉันหรือไม่ฉัน ไม่ใช่ของแปลก คือการให้ทาน ตัวให้นี่มันตัดความโลภ และตัวให้นี่กันความจนในชาติหน้า อันดับรองลงมาก็ "ทานัง สัคคโส ปาณัง" ทานเป็นบันไดให้เกิดในสวรรค์
    ทีนี้พอเราเริ่มให้ปั๊บ มันเริ่มได้ตั้งแต่เราตั้งใจ การตั้งใจน่ะ มันตัดสินใจเด็ดขาดแล้วนะ เช่น คิดว่าพรุ่งนี้จะใส่บาตรข้าวขันนี้ เราไม่กินแน่นอน คิดว่าเราจะไม่กินเอง ตั้งแต่วันนี้คิดว่าจะใส่บาตร นี่บุญมันเกิดตั้งแต่เวลานี้
    แต่พอถึงพรุ่งนี้ต้องใส่จริง ๆ นะ อย่านึกโกหกพระ ไม่ได้นะ ไม่ใช่แกล้งนึกทุกวัน ๆ คิดว่านึกได้บุญ เลยไม่ได้ใส่บาตรสักที นี่ดีไม่ดีฉันพูดไปพูดมาเสียท่าเขานะ
    แต่คิดว่าจะทำจริง ๆนะ คือพรุ่งนี้จะใส่บาตรแน่ ๆ แต่ว่าวันนี้เกิดตายก่อน นี่ได้รับ 100 เปอร์เซ็นต์เลย ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าบอกนั่นแหละ
    "เจตนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทามิ"
    "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าตัวตั้งใจเป็นตัวบุญ"
    พระพุทธเจ้าบอกว่า มันมีผลตั้งแต่การตั้งใจเริ่มสละออก พอคิดว่าเริ่มจะทำ อารมณ์มันตัดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว ถือว่าไม่ได้เป็นของเราแล้ว มันได้ตั้งแต่ตอนนั้น"
    ผู้ถาม : "หลวงพ่อคะ การใส่บาตรวิระทะโย มีอานิสงส์อย่างไรคะ..?"
    หลวงพ่อ : "อานิสงส์เท่ากับ ถวายสังฆทานธรรมดา ไม่ต่างกัน อานิสงส์เหมือนกันหมด แต่ว่าใช้ วิระทะโย (คาถาภาวนากันจน) มันมีผลปัจจุบัน ชาตินี้ทำให้เงินไม่ขาดตัว ถ้าใส่บาตรทุกวัน สวดมนต์อยู่เสมอ ถ้าจะหมดก็มีมาต่อจนได้ ถ้าแบ่งเวลาทำสมาธิละก็ขลังมาก รวยมากหน่อย"
    เนื้อนาบุญที่ดี
    ผู้ถาม : "เห็นพระบางองค์ดูลักษณะไม่สำรวม ท่านวนเวียนคอยรับบาตรบ้านคนโน้นคนนี้แล้วก็ถ่ายใส่ถัง ถ้าเราไม่ใส่บาตรพระแบบนี้เราจะเป็นบาปไหมคะ..?"
    หลวงพ่อ : "บาป เขาแปลว่า ชั่ว บุญ เขาแปลว่า ดี ถ้าเราไม่ใส่ก็ไม่ชั่วตรงไหนนี่ เพราะว่ามันเป็นทรัพย์สินของเรา ถ้าเราให้เขา เขาแสดงอาการไม่เป็นที่เลื่อมใส เราไม่ให้ก็ไม่เห็นจะแปลก เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า การให้ทานก็จะต้องเลือกให้เหมือนกัน เพราะผู้รับถือว่าเป็น เนื้อนาบุญ
    ถ้าหว่านพืชลงไปในนาลุ่มน้ำก็ท่วมตาย ถ้าดอนเกินไปน้ำไม่ถึงก็ตาย ต้องหว่านในเนื้อนาที่เหมาะสม ถ้าเราเห็นนามันไม่ควร เราก็ไม่ให้ ทำไม่เหมาะไม่สม ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ถ้าให้ก็เป็นการเลี้ยงโจร
    แต่ว่าถ้าพูดถึงทานการให้ เจตนาเราจะตั้งอย่างไรก็ตาม ตัวนี้มันเป็นผลตัดโลภะอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่จริง ๆ ที่มีอานิสงส์สูงสุด คือ ตัดโลภะ ความโลภ เพราะคนที่มีความโลภนี้ ให้ทานไม่ได้ เงินที่จะให้ทานนี้มันตัดความสุขของเจ้าของ หากว่าเจ้าของเขาไม่ให้ เขากินเขาใช้ก็มีความสุข เขาอุตส่าห์ตัดวความสุขของเขาส่วนนี้ออกไป เป็นการตัดโลภะ ความโลภ เป็นก้าวหนึ่ง ที่จะถึงพระนิพพาน อันนี้เขาไม่ต่ำ มันเป็น จาคานุสสติกรรมฐาน
    จาคานุสสติกรรมฐานนี่ไม่ต้องไปภาวนา จิตคิดว่าจะให้ทานทุกวัน ๆ นี่นะ จิตคิดว่าถึงเวลานั้นเราจะใส่บาตร มากหรือน้อยก็ตาม อันนี้เป็น จาคานุสสติกรรมฐาน และการใส่บาตรหน้าบ้าน เขาถือว่าเป็นสังฆทาน ถ้าพระองค์ไหนมีจริยาไม่สมควร เราไม่ให้มันก็ไม่แปลก การถวายสังฆทานมันก็มีผล สำหรับพระผู้รับ ถ้าผู้รับไม่ดีก็ลงอเวจีไปเอง"

    ผู้ถาม : "กระผมอยากจะทำบุญใส่บาตรเหมือนกันครับ แต่คิดว่าของที่จะใส่บาตรทำบุญมันไม่ดี ก็เลยอายไม่อยากใส่ กะไว้ว่าถ้ามีอาหารดีเมื่อไรจะใส่บาตร ผมคิดอย่างนี้ถูกไหมครับ ..?"
    หลวงพ่อ : "การทำบุญทำไมจะต้องอาย เคยมีนักเทศน์เขาถามกันว่า "มียายกับตา 2 คน แกหุงข้าวแฉะแล้วแฉะอีก ไอ้แกงก็เปรี้ยวแล้วเปรี้ยวอีก แกกินไม่ลง ของมันกินไม่ได้ เวลาพระมาบิณฆบาตแกก็บอกใส่บาตรดีกว่า
    พระนักเทศน์เขาก็ถามกันว่า "อย่างนี้จะได้อานิสงส์ไหม.." ก็ต้องตอบว่า "ได้อานิสงส์ แต่ผลที่เขาจะได้รับก็เป็นทาสทาน"

    ผู้ถาม : "ทาสทานเป็นยังไงครับ"
     
  2. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    ทานมี 3 ประเภท ​
    หลวงพ่อ : "คำว่า ทาสทาน หมายความว่า ให้ของเลวกว่าที่เรากินเราใช้ เวลาที่เราใช้สอย มันก็ต้องเลวกว่าที่เขากินเขาใช้กัน ได้ก็ได้ของเลว
    ถ้าให้ของเสมอที่เรากินอยู่ หรือที่เราใช้อยู่ เขาเรียกว่า สหายทาน ผลที่เราจะได้รับ ก็เสมอกับที่เรากินเราใช้
    ถ้าให้ของที่ดีกว่าที่เรากินเราใช้ เขาเรียกว่า สามีทาน สามีทานเขาไม่ได้แปลว่า ผัวทานนะ สามี เขาแปลว่า นาย เวลาที่จะได้รับผลเราก็จะได้ของเลิศ
    ถ้าจะถามว่า ทาสทานมีอานิสงส์ไหม ก็ต้องดุตัวอย่าง ท่านอาฬวีเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์ 80 โกฏิ พระราชาตั้งเป็นมหาเศรษฐี แต่ว่าผ้าที่แกนุ่งนี่ ผ้าใหม่แกนุ่งไม่ได้ นุ่งผ้าช้ำแล้ว ใกล้จะขาดแกจึงนุ่งได้ ข้าวที่จะกินเม็ดสวย ๆ ก็กินไม่ได้ต้องเป็นข้าวหัก หรือปลายข้าวแกจึงจะกินได้ ของทุกอย่างที่แกใช้ต้องเป็นของเลว แต่อย่าลืมว่าเขาก็เป็นมหาเศรษฐ๊ได้นะ"
    หลวงพ่อปรารภเพิ่มเติมว่า
    หลวงพ่อ : "การตั้งใจว่าจะใส่บาตรด้วยของดี ๆ น่ะดี แต่ว่าวันไหนมีอาหารที่เราคิดว่าไม่ดีก็ใส่บาตรได้
    การให้ทาน พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าให้เบียดเบียนตัวเอง ถ้าเบียดเบียนตัวเองเป็น อัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานตัว
    และการให้ทานพระพุทธเจ้าให้ดูอีกว่า ควรให้หรือไม่ควรให้ ถ้าให้ในเขตของคนเลวอานิสงส์ก็น้อย อาจจะไม่มีเลย รู้ว่าคนนี้ควรจะให้เราก็ให้ ถ้าไม่ควรให้เราก็ไม่ให้ ให้แล้วไปกินเหล้าเมายา ไปสร้าง อันตรายกับคนอื่น เราไม่ให้ดีกว่าเป็นการต่อเท้าโจร ให้พลังแก่โจร เวลาจะให้ท่านวางกฎไว้ดังนี้
    1.ผู้ให้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์หรือไม่เขาจึงให้สมาทานศีลก่อน ถ้าสักแต่ว่าสมาทานนี่ซวย เวลานั้นต้องตั้งใจรักษาศีลจริง ๆ จิตตอนนั้นมันจึงจะบริสุทธิ์ คืออยู่ในช่วงว่างจากกิเลส ถ้าตั้งใจสมาทานศีลด้วยดี จิตตอนนั้นบริสุทธิ์
    2.ผู้รับบริสุทธิ์ หมายความว่า ถ้าผู้รับเป็นพระ ก็พยายามให้เป็นพระจริง ๆ นะ ถ้าถวายสังฆทานนี่ไม่ต้องห่วง ผู้รับบริสุทธิ์แน่ พระองค์ไหนถ้าไม่บริสุทธิ์ กินแล้วตกนรก
    3.วัตถุทานบริสุทธิ์ ถ้าไม่ได้ฆ่าสัตว์เอามาทำบุญ ไม่ได้ขโมยสตางค์เขามาทำบุญ เป็นของที่เราหามาได้โดยชอบธรรม
    อย่างนี้ของดีก็ตาม ของเลวก็ตามมีอานิสงส์มาก อานิสงส์คือความดี ความชื่นใจมาก
    ถ้าผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับบริสุทธิ์ วัตถุทานไม่บริสุทธิ์ ความดีก็ลดน้อยลง
    แต่ผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับไม่บริสุทธิ์ วัตถุทานไม่บริสุทธิ์ ให้บาทหนึ่ง จะได้สักสตางค์หรือเปล่าก็ไม่รู้
    รวมความว่า ต้องบริสุทธิ์ 3 อย่าง ถ้าลดไปอย่างใดอย่างหนึ่งอานิสงส์ก็ลดตัวลงมา ถ้าลดเสียหมดเลยก็ไม่มี"​
    เจตนาครบ 3 กาล ​
    หลวงพ่อ : "แต่ว่าการให้ทาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อีกประเภทหนึ่ง ต้องให้ครบ 3 กาล จึงจะมีอานิสงส์สูง คือ
    1. ก่อนที่จะให้ก็ตั้งใจว่าจะให้
    2. ขณะที่ให้ก็ดีใจ
    3. เมื่อให้แล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส​
    มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยหนึ่ง เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จนลง ขนาดข้าวเป็นเม็ดแทบไม่มีกิน ต้องกินปลายข้าว แต่ว่าศรัทธาของท่านยังไม่ถอย ท่านนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมไปด้วยพระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ท่านก็เอาปลายข้าวละเอียด เรียกว่า ข้าวปลายเกวียนต้ม แล้วก็เอาน้ำผักดองเปรี้ยว ๆ เค็ม ๆ ทำเป็นกับมาถวายพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้า
    "เวลานี้ทานของข้าพระพุทธเจ้าเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าข้า"
    พระพุทธเจ้าถามว่า "เธอมีเจตนาในการถวายทานมีความรู้สึกอย่างไร..?"
    ท่านบอกว่า "ก่อนจะให้เต็มใจพร้อมเสมอ ในขณะที่ให้ก็ปลื้มใจ เมื่อให้แล้วก็เกิดความเลื่อมใส ดีใจว่าให้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า"
    พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า "ดูก่อน มหาเศรษฐี ลูขัง วา ปะณีตัง วา" หมายความว่า ถ้าคนให้ทานมีเจตนาพร้อมเพรียงทั้ง 3 กาลอย่างนี้ ของดีก็ตาม ของเลวก็ตาม ย่อมมีอานิสงส์เลิศ มีอานิสงส์สูง แต่ที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านทำนั้น ท่านถวายพระพุทธเจ้า และพระที่ฉันก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด นับเป็นยอดของทาน
    ถ้าหากว่าเราไม่รู้จะเลือกยังไง องค์นี้จะเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์หรือเปล่า หรือเป็นพระโปเก พระเชียงกง ถ้าเราไม่รู้ก็ถวายเป็นสังฆทานเลย เพราะสังฆทานอานิสงส์สูงมาก รองจากวิหารทาน"

    ผู้ถาม : "หลวงพ่อครับ ใส่บาตรตอนเช้าบังเอิญหากับข้าวไม่ทัน เอาปลาเค็มที่กินค้างเมื่อวานนี้ใส่ไป เพราะความจำเป็นอย่างนี้มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่าครับ..?"
    หลวงพ่อ : "มีแน่ เป็นผลร้ายแรงมาก"

    ผู้ถาม : "ขนาดไหนครับหลวงพ่อ..?"
    หลวงพ่อ : "ตายแล้วเป็นเทวดา นี่เป็นจริง ๆ นะ"

    ผู้ถาม : "ก็นี่เขากินเหลือนี่ครับ"
    หลวงพ่อ : "เดี๋ยวก่อน..เคยอ่านเจอในพระไตรปิฎกไหม ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปในที่แห่งหนึ่ง เวลานั้นสายเกินไป เลยเวลาอาหารตอนเช้าใช่ไหม พร้อมกับพระสงฆ์ ก็มีพราหมณ์คนหนึ่งบอกว่า
    "อาหารของข้าพเจ้ามี แต่เวลานี้มันเป็นเดนเสียแล้ว การถวายพระพุทธเจ้าพร้อมไปด้วยพระสงฆ์เกรงจะเป็นบาป"
    พระพุทธเจ้าถามว่า "เธอคิดว่าเป็นเดนน่ะ เธอตักกินในหม้อหรือเปล่า"
    เขาบอกว่าเปล่า เขาตักออกมาใส่ถ้วยแล้วกิน พระพุทธเจ้าบอกว่า "อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นเดน ถวายพระสงฆ์หรือพระพุทธเจ้าก็ดี จะมีอานิสงส์สมบูรณ์แบบ" แล้วท่านก็ตรัสต่อไป "ถึงแม้ว่า อาหารจะเป็นเดน คือ กินในถ้วยนั้นแล้ว แต่ถ้าพระท่านหิว ถ้าเอาไปถวาย ก็มีอานิสงส์สมบูรณ์แบบเหมือนกัน ไม่มีโทษมีแต่คุณ"
    การทำบุญมี 3 วิธี​
    หลวงพ่อ : "อีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สมัยพระพุทธกัสสปท่าเนทศน์ไว้อย่างนี้คือ
    "บุคคลใดทำบุญด้วยตนเอง ไม่ชักชวนคนอื่น ถ้าเกิดในชาติต่อไป จะร่ำรวยโภคสมบัติ แต่ขาดเพื่นอขาดบริวารสมบัติ"
    "ถ้าดีแต่ชักชวนเขา ไม่ทำเอง ชาติต่อไปมีเพื่อนมาก แต่ตัวเองจน"
    "ถ้าทำบุญด้วยตนเองด้วย ชักชวนคนอื่นด้วย รวยด้วย มีพรรคพวกมากด้วย"
    นี่ท่านเทศน์แบบนี้นะ ถ้าเราทำคนเดียวได้ก็ทำ ทีนี้ถ้าเราชวนเขาด้วย แต่ว่าการชวนนี่ก็ลำบากนะ ถ้าชวนเขาทำบุญด้วย ก็อย่าหวังว่าเขาจะให้เรานะ คิดว่าเขาให้หรือไม่ให้ก็เป็นเรื่องของเขา คือ แนะนำเขา ว่าเวลานี้เราทำโน่นทำนี่ จะทำบุญร่วมด้วยไหม .. ถ้าบังเอิญเขาไม่ทำร่วมด้วยก็อย่าไปโกรธ เราถือว่าเราชวนเขาทำความดี ถ้าเราโกรธเขาเข้า บุญเราจะด้อยลงไป เพราะตัวโกรธเข้ามาตัด"

    ผู้ถาม : "ดิฉันเคยอ่านเจอในหนังสือที่หลวงพ่อเขียนบอกว่า การถวายสังฆทานควรมี พระพุทธรูป ผ้าไตรจีวี และอาหาร อันนี้จำเป็นจะต้องมีครบ ตามนี้ไหมคะ..?"
    หลวงพ่อ : "ความจริงเราไม่ทำถึงขนาดนี้ก็ได้ การถวายสังฆทาน ในที่บางแห่งใช้เครื่อง 5 เครื่อง 8 น่ะเป็นการสร้างขึ้น เรามีข้าวเพียงช้อนหนึ่ง แกงเพียงช้อนหนึ่ง น้ำเพียงช้อนหนึ่งแล้วถวายไป บอกว่า เป็นสังฆทาน เพียงเท่านี้ก็ใช้ได้ แต่ว่าที่เขียนไว้ในหนังสือว่าควรทำแบบนี้เพราะว่า ผีกี่ร้อยกี่พันรายก็ตามมาขอกันแบบนี้เรื่อย คือขอเหมือนกัน ที่ฉัน แนะนำเขาตามที่ผีเขาขอนะ เลยถามเขาว่า "ผลจะได้แก่พวกเอ็งเป็นยังไง..?" เขาบอกว่า
    1. ถวายพระพุทธรูปเป็นของสงฆ์ อานิสงส์ก็คือถ้าเป็นเทวดามีรัศมีกายสว่างไสวมาก เพราะว่าเทวดาหรือพรหม เขาไม่ดูกันที่เครื่องแต่งตัว เขาดูแสงสว่างจากกาย
    2. ผ้าไตรจีวร หรือผ้าสักผืนหนึ่ง เขาจะได้เครื่องประดับอันเป็นทิพย์ เครื่องแต่งตัวทิพย์
    3. อาหารหรือของกิน จะทำให้มีร่างกายเป็นทิพย์"

    ผู้ถาม : "ทีนี้ถ้าหากว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจุติจากเทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี มาเกิดเป็นมนุษย์ อานิสงส์เหล่านี้จะติดตามมาอีกไหมครับ..?"
    หลวงพ่อ : "อานิสงส์ตามมา คือ
    1. มีรูปร่างหน้าตาสวย เพราะอานิสงส์ถวายพระพุทธรูป แล้วก็มีปัญญาทรงตัว นี่อำนาจพุทธานุภาพนะ
    2. เครื่องประดับเครื่องแต่งตัวดี และไม่อดอยากเพราะอาศัยทาน
    ตัวอย่าง นางวิสาขา เป็นคนสวยงามมาก เพราะในชาติก่อนได้เคยซ่อมแซมพระพุทธรูป และปลูกโรงทำหลังคาคลุมพระพุทธรุ) จึงเป็นปัจจัยได้ เบญจกัลยาณี คือมี ความงาม 5 ประการ
    และนางวิสาขาก็เป็นคนรวยมาก มีเครื่องลดามหาปสาธน์ราคา 16 โกฏิ เป็นเครื่องประดับ เพราะอานิสงส์เคยถวายผ้าไตรจีวรไว้ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าเป็นผู้ชายออกบวชในสำนักพระพุทธเจ้า เมื่อท่านตรัสว่า "เอหิ ภิกขุ" แปลว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด" เพียงเท่านี้ ก็จะได้ผ้าไตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ลอยลงมา สวมตัวทันที
    ทั้งนี้ด้วยอำนาจบุญบารมีที่ท่านได้บำเพ็ญแล้วด้วยดี จังเป็นปัจจัยให้นางวิสาขาเป็นทั้งคนสวยคนรวย และเป็นคนที่มีปัญญามาก ได้เป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ"

    ผู้ถาม : "ทีนี้ก็มีคนสงสัยเรื่องสังฆทานครับ ถามว่าสังฆทานที่มาถวายหลวงพ่อ แล้วก็ ผาติกรรมไป แล้วก็กลับมาถวายหลวงพ่ออีก ครั้งหนึ่ง อานิสงส์จะสมบูรณ์หรือไม่อย่างไรครับ..?"
    หลวงพ่อ : "เท่ากันแหละ เขาเอาแบ๊งค์มาถวายก็เป็นสังฆทาน ถ้าอยากจะมีของ ไปรับเอามาก็เท่ากัน"

    ผู้ถาม : "ซื้อมาเองกับผาติกรรมนะครับ..?"
    หลวงพ่อ : "แต่อย่าลืมว่าสตางค์ของใคร นั่นมันเป็นสัญลักษณ์ เป็นนิมิตออกมา มีของสักหน่อยใจมันสบายกว่าไม่มีของใช่ไหม ถ้าเจตนาให้เงินมันเป็นอะไรมันก็เป็นไปตามนั้น และก็ตั้งใจเฉย ๆ เกรงว่าไม่เป็นไปตามน้นให้มันมีของตั้งอยู่ ถ้าต้องการจีวรต้องการพระพุทธรูปก็เป็นนิมิตจับ
    อย่าลืมว่าอานิสงส์ของสังฆทาน อะไร ๆ ก็ต้องไปดาวดึงส์เป็นอย่างน้อย สังฆทานกับวิหารทาน จุดแรกต่ำที่สุดคือ ดาวดึงส์ หลังจากนั้นจะไปเลวกว่านั้นก็ตามใจ แต่อย่าลืม นะ ดาวดึงส์นี่เข้ายากนะ ไม่ใช่เข้าง่ายนะ นอกจากทำบุญขั้นสังฆทานและวิหารทานแล้ว ถ้าเป็นบุญเล็กน้อย ก็ต้องเป็นการทำบุญตัดชีวิต
    คำว่า "ทำบุญตัดชีวิต" ก็หมายความว่า ถ้าเราเดินทางไป เอาข้าวไปจำกัด ขณะกินข้าวอยู่ก็เห็นสุนัขเดินมา หรือไก่เดินมา นึกสงสารมัน "ให้มันกินหน่อยเถอะวะ"อย่างนี้ ไปดาวดึงส์ก็ได้"
    ทำบุญวันเกิด ​
    <FFONT style="FONT-SIZE: 14pt; FONT-FAMILY: CordiaUPC, BrowalliaUPC, MS Sans Serif" color="#FF0000">ผู้ถาม : "หลวงพ่อคะ การทำบุญวันเกิด เราจะทำหลังวันเกิดดี หรือก่อนวันเกิดดีคะ..?"
    หลวงพ่อ : "ตอนไหนก็ได้ การทำบุญวันเกิด เราถือว่าปีหนึ่งเรามีโอกาสทำบุญครั้งหนึ่ง ที่เราทำบุญวันเกิดนี่เป็นนโยบายของพระ ท่านให้เรามีจิตเป็นกุศลไว้ ถ้าถึงวันเกิดเราตั้งใจจะทำบุญ เราจะทำอะไรบ้าง มีการเตรียมการไว้ในใจ ถ้าจิตมันนึกอย่างนี้ เวลาจะตายอานิสงส์ได้ทันที
    อย่าง สาตกีเทพธิดา เธอจะเอาดอกบวบขมไปบูชาเจดีย์ที่เขาบรรจุกระดูกของพระอรหันต์ แต่พอจัดดอกไม้ยังไม่ทันพ้นบ้าน ถูกวัวขวิดตาย อาศัยที่เธอจะตั้งใจบูชาพระด้วยดอกไม้ดอกนั้น ยังไปไม่ถึง พอตายแล้วก็เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลก มีวินมานทองคำเป็นที่อยู่ มีนางฟ้า 1,000 เป็นบริวาร
    อย่างนี้เขาถือว่าเป็น อนุสสติ ถ้าเรานึกจะถวายเป็นสิ่งของก็เป็นจาคานุสสติ คิดว่าเราจะทำบุญกับพระองค์นั้นองค์นี้ นึกถึงพระสงฆ์ ก็เป็น สังฆานุสสติ ถ้าเราคิด จะทำบุญกับพระสงฆ์ แต่ให้มีพระพุทธรูปตั้งอยู่ด้วย นึกถึงพระพุทธก็เป็น พุทธานุสสติ ถือว่าเป็นการเจริญพระกรรมฐานไปในตัว แต่พระท่านไม่ได้บอกตรง ๆ เท่านั้นเอง"

    ผู้ถาม : "หลวงพ่อคะ แล้วอย่างทำบุญแค่เพียงเล็กน้อย เช่น การสร้างโบสถ์นี่นะคะ คือไม่ได้ทำทั้งหลังค่ะ ทำเฉพาะประตูไม้ เขามาเรี่ยไรก็ร่วมทำบุญไปกับเขาค่ะ อย่างนีบุญคงน้อยกว่าการทำบุญทั้งหลังใช่ไหมคะ..?"
    หลวงพ่อ : "ถ้าเราทำบุญสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างกุฏิ สร้างศาลา ทั้งหมดนี่เราไม่ได้ทำเต็มหลัง คือราคาไม่เต็มหลังแต่ว่าไม่ใช่เราได้นิดเดียวนะ เราก็ได้เต็มหลัง วิมานจะปรากฏเลย ถ้าเราได้มาโนมยิทธิจะสามารถไปเที่ยวดูได้"

    ผู้ถาม : "รู้สึกว่า สมบัติที่เราทำไปมันน้อย ก็คิดว่าบุญคงได้น้อยค่ะ"
    หลวงพ่อ : "สมบัติมันเล็กน้อยก็จริง แต่ว่าอานิสงส์มันไม่เล้กน้อย ก็แบบซื้อลอตเตอรี่ใบเดียวถูกรางวัลที่หนึ่งน่ะ อย่างทำบุญสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างอาคาร สร้างส้วม เขาเรียกว่า วิหารทาน อันนี้จัดเป็นบุญสูงสุด
    ตัวอย่างตอนที่พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็น มฆมานพ ท่านกับเพื่อนอีก 32 คน ช่วยกันทำศาลาหลังหนึ่งไว้เป็นที่พักของคนเดินทาง มีช้างสำหรับลากไม้หนึ่งเชือก มีนายช่างหนึ่งคน
    เวลาตายไปแล้ว ท่ามฆมานพก็ไปเป็นพระอินทร์ เพื่อนอีก 32 คนก็ไปเทวดา มีวิมานคนละหลัง นายช่างไปเป็น วิษณุกรรมเทพบุตร ช้างที่ลากไม้เป็น เอราวัณเทพบุตร มีวิมานคนละหลัง นี่เป็นเรื่องอานิสงส์นะ"

    ผู้ถาม : "หลวงพ่อครับ กุศลชนิดใดที่มีอานิสงส์มากกว่าวิหารทานบ้างครับ..?"
    หลวงพ่อ : " "สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ" การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง ให้ธรรมทานซิคุณ หนังสือเรียนของเด็ก หนังสือเรียน ของผู้ใหญ่ หนังสือเรียนของพระ หนังสือธรรมะต่าง ๆ
    ดูตัวอย่าง พระสารีบุตร ให้ปัญญากับประชาชนทั้งหลาย เพราะอานิสงส์ได้เคยสร้างพระธรรมซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีประโยชน์ถวายพระพุทธเจ้า เกิดมาชาติหลังสุดเป็นพระที่มีปัญญามาก
    อย่างเงินที่เขาถวายฉันไว้นี่ พอกลับไปถึงวัดก็เรียบร้อย เลี้ยงอาหารพระบ้าง ค่ากระแสไฟฟ้าบ้าง ค่าก่อสร้างบ้างโดยเฉพาะเทปคาสเซทที่ขายม้วนละ 25 บาท ถ้าเอาทุนจริง ๆ แล้วมันไม่พอ รวมความว่า ที่ท่านตั้งใจนี่มีผล 4 อย่าง
    1. สร้างพระพุทธรูป
    2. วิหารทาน
    3. สังฆทาน
    4. ธรรมทาน
    ทั้งหมดนี้ใช้ทุนไม่ต้องมากก็ได้ เอาสัก 50 สตางค์ เป็นอันว่าการทำบุญเอาแค่พอควรนะ แต่ให้มันเป็นบุญใหญ่ เขามุ่งแบบนั้นนะ คือเราเอาไปผสมกับเขาก็แล้วกัน ไม่ต้องสร้างทั้งหลัง"

    ผู้ถาม : "กระผมสงสัยเรื่องการทำบุญ บางคนก็ทำช้า บางคนก็ทำไว อยากเรียนถามหลวงพ่อว่า การทำบุญช้าบ้าง เร็วบ้าง ยืดยาดบ้าง อานิสงส์จะต่างกันหรือไม่ขอรับ..?"
    หลวงพ่อ : "ต่างกัน คือได้ช้า ได้เร็ว ก็เหมือน ท่านจูเฬกสาฎก ท่านฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ตั้งใจถวายทานตั้งแต่ยามต้น และยามที่ 2 จิตเป็นห่วงยาย ที่บ้านไม่มีโอกาสจะฟังเทศน์เพราะไม่มีผ้าห่ม พอยามที่ 3 ใกล้สว่าง จึงตัดสินใจถวายแล้วประกาศว่า "ชิตัง เม ชิตัง เม" พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ยินก็ทราบว่า ชนะความตระหนี่ จึงนำผ้าสาฎกและทรัพย์สินต่าง ๆ มาให้มีฐานะเป็นคหบดีคนหนึ่ง
    ต่อมาพระพุทธเจ้าตรัสว่า "ถ้าพราหมณ์นี้ถวายในยามต้นจะได้เป็น มหาเศรษฐี ถ้าถวายยามที่ 2 จะได้เป็นอนุเศรษฐี ยามที่ 3 จะได้เป็นคหบดีใหญ่ ที่ได้น้อยเพราะถวายช้าเกินไป" พระองค์จึงตรัสว่า การบำเพ็ญกุศลผลความดีในศาสนาของเรานี้จงอย่าให้เนิ่นช้า ต้อง "ตุลิตะ ตุลิตัง สีฆะ สีฆัง" คือ เร็ว ๆ ไว ๆ"


    ที่มา http://www.putthapoom.com/answer/answer3.html
     
  3. junior phumivat

    junior phumivat เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กุมภาพันธ์ 2008
    โพสต์:
    1,346
    ค่าพลัง:
    +1,688
    ผู้ถาม : เมื่อทำบุญแล้ว ถ้าจะอุทิศส่วนกุศลภายหลังจะได้ไหมคะ...........?
    หลวงพ่อ : การทำบุญไปแล้วครั้งหนึ่งสักกี่ปี ๆ บุญก็ยังมีอยู่ถ้าทำไปแล้วสัก ๓๐ ปี ก็ยังอุทิศส่วนกุศลได้ บุญมันไม่หาย ไม่ใช่เราทำบุญแล้ว เดี๋ยวเดียวมันหายไปไม่ใช่อย่างนั้นนะ
    ผู้ถาม :แล้วถ้าเผื่อทำบุญแล้ว ไม่ได้อุทิศส่วนกุศลจะได้บุญเต็มที่ไหมคะ...?
    หลวงพ่อ : ก็ได้เต็มที่อยู่แล้ว เราเป็นผู้ได้สมบูรณ์แบบ แต่อยู่ที่ว่าเราจะให้เขาหรือไม่ให้ การอุทิศส่วนกุศล นี่นะ ถ้าเราไม่ให้ เราก็กินคนเดียวใช่ไหม..... ทีนี้ถ้าเราให้เขาของเราก็ไม่หมดอีก ส่วนที่เราให้ไปไม่ได้ยุบไปจากของเดิม อย่างเรื่องของ พระอนุรุทธ สมัยที่ท่านเกิดเป็นคนเกี่ยวหญ้าช้างของมหาเศรษฐี เวลาที่ท่านทำบุญแล้ว เจ้านายขอแบ่งบุญ ท่านก็สงสัยว่าการแบ่งบุญน่ะจะแบ่งได้ไหม จึงไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้า ที่ท่านรับบาตรนะ ท่านก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า

    "สมมุติว่าโยมมีคบ แล้วก็มีไฟด้วย คนอื่นเขามีแต่คบ ไม่มีไฟ ทุกคนต้องการแสงสว่าง ก็มาขอต่อไฟที่คบของโยมแล้วคบทุกคนสว่างไสวหมด อยากทราบว่าไฟของคุณโยมจะยุบไปไหม....?
    ท่านอนุรุทธก็บอกว่า ไม่ยุบ
    แล้วท่านก็บอกว่า "การอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนกัน ให้เขา เขาโมทนา แต่บุญของเราเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์"


    ขออนุโมทนาบุญกับทุกๆท่านครับ

    ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงพบแล้ว ขอธรรมนั้น จงสำเร็จแก่ท่านทั้งหลายโดยเร็วด้วยเถิด สาธุ สาธุ สาธุ
    อิทัง ปุญญะผะลัง ผลบุญใด ที่ข้าพเจ้า ได้บำเพ็ญแล้ว ตั้งแต่ต้นชาติ จนถึงปัจจุบันชาติ ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ที่เคยล่วงเกินมาแล้ว แต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงโมทนา ส่วนกุศลนี้ ขอจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้ ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน และขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่ปกปักรักษาข้าพเจ้า และเทพเจ้าทั้งหลาย ทั่วสากลพิภพ และพระยายมราช ขอเทพเจ้าทั้งหลาย และพระยายมราช จงโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงเป็นสักขีพยาน ในการบำเพ็ญกุศล ของข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเถิด และขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่ท่านทั้งหลาย ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เสวยความสุขอยู่ก็ดี เสวยความทุกข์อยู่ก็ดี เป็นญาติก็ดี มิใช่ญาติก็ดี ขอท่านทั้งหลาย จงโมทนาส่วนกุศลนี้ พึงได้รับประโยชน์ ความสุข เช่นเดียวกับข้าพเจ้า จะพึงได้รับ ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด หากท่านทั้งหลายยังไม่มีโอกาสได้อนุโมทนาเพียงใด ขอเทพเจ้าทั้งหลายและพระยายมราชจงเป็นสักขีพยานให้แก่ข้าพเจ้าด้วย เจอเธอเมื่อใด ขอให้เธอได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ด้วยเถิด ผลบุญใด ที่ข้าพเจ้า ได้บำเพ็ญแล้ว ตั้งแต่ต้นชาติ จนถึงปัจจุบันชาตินี้ ขอผลบุญนี้ จงเป็นปัจจัย ให้ข้าพเจ้า ได้เข้าถึง ซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเถิด หากแม้นยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด ขอคำว่าไม่รู้ ไม่มี ในสิ่งที่ดี จงอย่าได้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าเลย ขอผลบุญทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้า ได้กระทำแล้ว ตั้งแต่ต้นชาติ จนถึงปัจจุบันชาติ จงบังเกิดผล ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด
    <!-- / message -->​

    <!-- / message -->
     
  4. Laywoman

    Laywoman เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    430
    ค่าพลัง:
    +201
    "ทำทานไปนิพพานด้วยถ่อ
    รักษาศีล เหมือนนั่งรถ นั่งเกวียนไป
    แต่ถ้าภาวนาได้ก็เหมือน ขี่เรือบินไป"

    หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

    สาธุ อนุโมทนามิ
     
  5. กำธร นครปฐม

    กำธร นครปฐม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    2,756
    ค่าพลัง:
    +7,203
    ขออนุโมทนาทุก ๆ ท่านครับ ที่นำเรื่องดี ๆ เหล่านี้มาให้อ่านครับ
     
  6. สวนะ

    สวนะ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    465
    ค่าพลัง:
    +201
    จำได้ว่าบรรจุไว้ในหนังสือ หลวงพ่อ ตอบปัญหาธรรม (ฉบับพิเศษ เล่ม 1)
    ขออนุโมทนากับ จขกท. ค่ะ
    "สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ"
    การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะทานทั้งปวง
     
  7. kongrat

    kongrat Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    87
    ค่าพลัง:
    +54
    ขออนุโมทนาสาธุครับพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ
     
  8. ไห่เฉากุหลาบไฟ

    ไห่เฉากุหลาบไฟ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2004
    โพสต์:
    895
    ค่าพลัง:
    +2,177
  9. Ugood

    Ugood ธรรมชาติ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    635
    ค่าพลัง:
    +490
    อนุโมทนา ครับ
    สาธุ สาธุ สาธุ
    ___________
    ธรรมะคือธรรมชาติ
     

แชร์หน้านี้

Loading...