เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 2 กันยายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,351
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,522
    ค่าพลัง:
    +26,358
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,351
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,522
    ค่าพลัง:
    +26,358
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ เมื่อเช้านี้ โครงการ "วันเสาร์ใส่บาตรตลาดริมแคว ยลวิถีเมืองท่าขนุน" พวกเราก็ตากฝนบิณฑบาตกันตามปกติ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่น่าที่จะเปียก แต่ว่าเรื่องของฟ้าของฝน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถที่จะกำหนดได้ว่าจะมาเมื่อไร อะไรที่พอทนรับได้ก็ทนกันไป

    เนื่องเพราะว่าชีวิตของพระภิกษุสามเณร ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือความอดทน อดทนต่อความยากลำบาก อดกลั้นต่ออารมณ์กระทบ อดออมที่จะไม่แสดงออกถึงกิริยาอาการไม่ดี ต้องบอกว่าเป็นหน้าที่ของพระเราที่จะต้องทำให้ได้อย่างนั้น ถือหลักว่าพระภิกษุสามเณรก็คือธรรมเสนา ทหารในกองทัพธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อเป็นทหาร ก็อย่างที่โบราณเขาใส่เอาไว้ในพยัญชนะไทยของเรา ก็คือขยายความว่า ท.ทหารอดทน

    คราวนี้สิ่งที่เราทนนั้นต้องเป็นการทนด้วยการใช้ปัญญา ไม่ใช่ทนแบบควาย..! ความทนด้วยการใช้ปัญญาก็คือ รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราต้องตาย พ้นจากวินาทีนี้ไป เราอาจจะเสียชีวิตแล้วก็ได้ ถ้าหากว่าสติปัญญาของเราสมบูรณ์พร้อม เห็นชัดเจนอยู่ในลักษณะแบบนี้ ก็จะไม่รู้สึกว่ามีอะไรลำบาก เพราะว่าเราจะพ้นไปแล้ว

    ดังนั้น..นักปฏิบัติธรรมที่ดีจึงต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย แล้วตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่า ตายแล้วเรามีพระนิพพานเป็นที่ไปเท่านั้น ไม่ใช่ว่าอะไรก็ทน แต่เป็นการทนแบบไร้ปัญญา ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่เราทนก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร

    การที่เราทนแบบคนมีปัญญา รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย เราก็ต้องเตรียมความพร้อม อย่างที่เคยมีหนังสือ หรือว่าภาพยนตร์ที่เขียนเอาไว้ว่า "ถ้าเหลือชีวิตอยู่อีก ๗ วัน เราจะทำอะไรกันบ้าง ?" จะว่าไปแล้ว คนเขียนก็พอมีส่วนของการเข้าถึงธรรมอยู่บ้าง แต่ยังประมาทจนเกินไป เพราะคิดว่ายังอยู่อีกตั้ง ๗ วัน..!

    ทำอย่างไรที่เราจะรู้ตัวอยู่เสมอว่า หายใจเข้า..ไม่หายใจออก เราก็ตายแล้ว หายใจออก..ไม่หายใจเข้า เราก็ตายอีกเช่นกัน ชีวิตนี้มีความตายเป็นเบื้องหน้า เราจักต้องถึงความตายเป็นแน่แท้ ไม่มีใครล่วงพ้นความตายนี้ไปได้ ก็แปลว่า ต้องมีปัญญาในมรณานุสติอยู่ในระดับที่สูงมาก

    คราวนี้เมื่อรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย ก็ต้องมีการเตรียมพร้อม การเตรียมพร้อมของเราก็ไม่มีอะไรที่เกินไปกว่า ศีล สมาธิ แล้วก็ปัญญา ในแต่ละวันเราต้องทบทวนว่าศีลทุกสิกขาบทของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? เราละเมิดศีลด้วยตนเองหรือไม่ ? เราได้ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? และท้ายที่สุดเรายินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ?

    ในเมื่อศีลของเราสมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมแล้ว ก็เป็นอันว่ารอดตัวไปอีกวัน แต่ถ้ามีขาดตกบกพร่อง ต้องตั้งใจทันทีว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจักเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ แล้วตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังรักษาสิกขาบทต่อไป
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,351
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,522
    ค่าพลัง:
    +26,358
    ส่วนในเรื่องของสมาธินั้น ถ้าเป็นไปได้ ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกตลอดทั้งวัน ถ้าหากว่าไม่ได้ อย่างน้อย ๆ เช้า ๆ เย็น ๆ ต้องมีเวลาในการภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ว่าจากการที่กระผม/อาตมภาพปฏิบัติมาด้วยตัวเอง ตอนช่วงเช้าภาวนาจนกำลังใจทรงตัวเต็มที่เท่าที่เราทำได้ แต่พอไปทำการทำงาน กระทบกระทั่งกับสารพัดอารมณ์ที่ประเดประดังเข้ามา ก็มักจะไม่พอใช้งาน จึงต้องไปภาวนาเพิ่มเติมตอนพักเที่ยง

    ดังนั้น..เรื่องของอาหารการกิน จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ สักแต่ว่ายัด ๆ เข้าปาก กลืนลงท้องไปให้อิ่มก็พอ เอาเวลาที่เหลือไปภาวนาให้มากที่สุด เมื่อถึงเวลาช่วงบ่าย เราจะได้อาศัยกำลังนั้นทำงานของเราต่อ พอกระทบกระทั่งกับอารมณ์ต่าง ๆ เข้า ก็มักจะพังเสียก่อนที่จะหมดวัน เราจึงต้องมีการภาวนาในช่วงเย็น หรือช่วงค่ำด้วย เพื่อรักษาอารมณ์ใจให้ต่อเนื่องกัน

    สำหรับท่านที่ฝึกใหม่ ๆ มักจะลำบากมาก หกล้มหกลุกวันหนึ่งเป็นร้อยเป็นพันครั้ง พุท..ยังไม่ทันจะ..โธ..เลย พังแล้ว แต่ถ้าพากเพียรพยายามทำไป ก็จะยืนระยะได้ยาวขึ้น นานขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ถึงลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับ ถ้าอย่างนั้น ก็พอจะมีโอกาสเอาตัวรอดได้ แค่ใช้สติระมัดระวัง ประคับประคองลมหายใจและคำภาวนาเอาไว้ก็พอ แต่อย่าเผลอ..เผลอเมื่อไรก็หลุดหายอีก ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กันอีก

    จึงเป็นเรื่องที่ต้องเพียรพยายาม ทำแล้วทำอีก ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ทุกวัน แต่ถ้าทำได้เมื่อไร ท่านทั้งหลายจะมีความสุขมาก เพราะว่าสภาพจิตของเราจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ก็คืออยู่กับปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปในอดีต ไม่ฟุ้งซ่านไปในอนาคต รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่ได้ เราก็จะเป็นผู้ปราศจากกิเลสชั่วคราว

    แต่ว่าผู้คนจำนวนมากก็ไปติดอยู่ที่ความสุขตรงนั้น เพราะว่าโดยปกติ คนเราก็จะโดนไฟใหญ่ ๔ กอง คือ รัก โลภ โกรธ หลง เผาผลาญอยู่ตลอดเวลา เมื่อกำลังสมาธิสูงพอที่จะกด รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับสนิทลงไปได้ชั่วคราว มีความสุขแบบบอกไม่ถูก ก็เลยติดอยู่แค่นั้นอีก

    จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีปัญญาเข้ามาช่วยเหลือ มองให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสมาธินี้เป็นเพียงเครื่องอาศัยเท่านั้น ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง เปรียบเหมือนเรือหรือแพที่จะส่งเราไปสู่จุดหมายที่ฝั่งตรงข้าม ถ้าหากว่าเรือรั่ว หรือแพแตกเสียก่อน เราก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ในเมื่อสมาธิยังหาความแน่นอนไม่ได้เช่นนี้ ขึ้นชื่อว่าสิ่งอื่นจะไม่มีความทุกข์นั้นย่อมไม่มี เพราะว่าไม่ได้อย่างใจของเราสักอย่าง
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,351
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,522
    ค่าพลัง:
    +26,358
    ดังนั้น..เราก็ต้องมองให้เห็นว่า ทุกวันนี้เราเอง ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่บนกองทุกข์ ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตาลงไป ไม่มีวินาทีไหนที่มีความสุขอย่างแท้จริง ถ้าหากว่ามองเห็นอย่างชัดเจนแบบนี้ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย สภาพจิตจะค่อย ๆ ถอนจากการยึดการเกาะในอัตภาพร่างกายนี้ ถอนออกจากความปรารถนาที่จะมาเกิดใหม่ เพราะว่ามีแต่ความทุกข์

    ถอนออกมาได้มาก ก็เป็นพระอริยเจ้าระดับสูงมาก ถอนออกมาได้น้อย ก็เป็นพระอริยเจ้าระดับกลางหรือระดับต่ำลงมา ถ้าสามารถละวางได้ทั้งหมด เราก็มีสิทธิ์ที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้

    ดังนั้น..ในเรื่องของความอดกลั้นอดทน จึงต้องมีปัญญาประกอบ มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักในการยึดถือและปฏิบัติ เราจึงจะสามารถใช้ไปในทางที่ถูกต้อง ไม่หลงติดอยู่จนเสียเวล่ำเวลาไปนาน อาจจะตายเปล่าแบบเสียชาติเกิด เพราะว่าไม่ทันจะได้ความดีอะไร ก็หมดอายุขัยเสียก่อน จึงเป็นเรื่องที่นักปฏิบัติทั้งหลายจะพึงสังวรเอาไว้ว่า ความตายมาถึงเราได้ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าหากว่าตายลงไปแล้ว เราจะไปไหน ?

    หลังจากนั้นก็มาทบทวนในเรื่องของศีล เร่งรัดในเรื่องของสมาธิ และใช้ปัญญาในการที่จะพินิจพิจารณา จนกระทั่งเห็นสภาพที่แท้จริงของร่างกายนี้ ของโลกใบนี้ ของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ว่าหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ และท้ายที่สุด ก็ไม่มีอะไรหลงเหลือให้เรายึดถือมั่นหมายได้ ถ้าเห็นได้ชัดเจน สภาพจิตถอนจากการยึดเกาะ ท่านทั้งหลายก็จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารไปเอง

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...