เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๕

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 ธันวาคม 2022.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๕


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพไม่ได้ออกบิณฑบาต เนื่องจากว่าต้องเดินทางลงไปให้ทันเวลาลงทะเบียนในโครงการ "อบรมนักเล่าเรื่องประจำชุมชน/เจ้าบ้านที่ดี" ของทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมอาเซียน ๒ โรงแรมพีลูดส์ ถนนสายเลี่ยงเมือง หมู่ที่ ๓ ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

    เมื่อไปถึง ทางด้านคุณประทีป พัฒนมาศ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรีก็มาต้อนรับ พาเข้าไปยังที่นั่งเฉพาะ ซึ่งกระผม/อาตมภาพนั้นมาในฐานะแขกวีไอพี เนื่องเพราะว่าเกี่ยวข้องกับการอบรมแค่ส่งบุคลากรของชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน คือนางสาวสมรส สวรรค์งาม หรือที่เรียกกันด้วยความคุ้นเคยว่า "ครูรส" จากโรงเรียนทองผาภูมิวิทยามาเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้

    บรรดาเจ้าหน้าที่ ตลอดจนกระทั่งผู้เข้าอบรมท่านอื่น ๆ ก็รู้สึกแปลกใจมาก เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเมื่อส่งเข้ารับการอบรมก็อยู่ในลักษณะของ "การลอยแพ" กันเลย แต่ว่ากระผม/อาตมภาพไม่เคยทำเช่นนั้น ถ้าเป็นบุคลากรของเราไปเข้ารับการอบรม แล้วมีเวลาปลีกตัวไปได้ ไม่ติดงานอื่นที่สำคัญจริง ๆ กระผม/อาตมภาพก็มักจะเดินทางไปให้กำลังใจทุกครั้งไป

    ในครั้งนี้ก็ได้เจอกับลูกศิษย์ คือพระครูกฤติธี (พระครูโสภิตสุวรรณาภรณ์) เจ้าอาวาสวัดดงเสลา ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ในฐานะประธานชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดดงเสลา ซึ่งท่านเคยเป็นลูกศิษย์เรียนปริญญาโทกับกระผม/อาตมภาพที่วิทยาลัยสงฆ์ศรีทวารวดี วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง)

    พระครูกฤติธีก็ได้แนะนำคณะญาติโยมจากจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มากราบกระผม/อาตมภาพ พร้อมกับบรรยายสรรพคุณเสียใหญ่โต ว่าครูบาอาจารย์ท่านนี้มีความเก่งกล้าสามารถในลักษณะใดบ้าง ซึ่งกระผม/อาตมภาพฟังแล้วก็ขำอยู่ในใจ

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าหลวงพ่อสมพงษ์ (พระครูสุวรรณจันทนิวิฐ, ดร.) เจ้าคณะตำบลองค์พระ เจ้าอาวาสวัดองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์มีชื่อเสียงในพื้นที่ เมื่อถึงเวลากระผม/อาตมภาพเดินทางไปร่วมพิธีพุทธาภิเษก เมื่อเจ้าหน้าที่นำเครื่องดื่มหรือน้ำปานะมาถวายท่าน ท่านก็บอกกับเขาว่า "เอาไปให้ครูบาอาจารย์ของกูก่อน..!"
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    เมื่อถึงเวลาอีกฝ่ายหนึ่งถามว่าครูบาอาจารย์คือท่านใด เพราะว่าในพื้นที่นั้นก็จะมีหลวงปู่สมบุญ (พระครูสุวรรณธรรมานุยุต) วัดลำพันบอง ที่เป็นพระเกจิอาจารย์อายุนับศตวรรษแล้วของอำเภอหนองหญ้าไซ เดินทางไปร่วมพิธีด้วย ตลอดจนกระทั่งหลวงปู่ป่วน (พระครูธรรมสารรักษา) รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี วัดบรรหารแจ่มใส ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากทั้งคู่

    แต่ว่าหลวงพ่อสมพงษ์ท่านชี้นิ้วมาที่กระผม/อาตมภาพซึ่งอาวุโสน้อยที่สุด เนื่องเพราะว่าแม้แต่หลวงพ่อสมพงษ์ท่านก็อายุ ๖๕ ปีแล้ว ทำเอาบรรดาเจ้าหน้าที่เสิร์ฟน้ำทำตาปริบ ๆ นึกว่าท่านพูดเล่น จนกระทั่งท่านต้องตวาดสำทับว่า "กูบอกว่าอาจารย์ของกูก็อาจารย์ของกูสิวะ..!" อีกฝ่ายหนึ่งถึงได้ยอมเชื่อถือและนำน้ำมาถวายให้กระผม/อาตมภาพ

    ตรงนี้ที่ขำขึ้นมาก็เพราะว่าพระครูกฤติธีท่านก็มาในลักษณะเดียวกัน ก็คือยกย่องครูบาอาจารย์ ทั้งสองท่านก็คือหลวงพ่อสมพงษ์ก็ดี พระครูกฤติธีก็ตาม ท่านก็เรียนปริญญาโทกับกระผม/อาตมภาพในรุ่นเดียวกัน จนกระผม/อาตมภาพคิดว่า บรรดาพระสังฆาธิการทางอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านมีความเคารพและยกย่องครูบาอาจารย์อยู่ในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ไม่ทราบว่าจะยกย่องเกินจริงไปสักเท่าใด ?

    อีกสักครู่หนึ่ง คุณสมมารถ คำถนอม วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ผู้เป็นเจ้าของงานก็มากราบ กระผม/อาตมภาพพูดก่อนเลยว่า "เด็กหญิงสมมารถ..เธอไม่ใช่คนผิด ไม่ต้องเครียด..!"

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าคุณสมมารถ คำถนอม ในฐานะเจ้าของพื้นที่ และผู้ดูแลโครงการชุมชนคุณธรรมมาโดยตลอด ไม่ทราบเหมือนกันว่าโดน "วางยา" ในลักษณะไหน ถึงได้ตกข่าว ไม่ได้รู้เรื่องที่คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยววุฒิสภา ขอเดินทางไปดูงานที่ชุมชนคุณธรรมต้นแบบโดดเด่นต่าง ๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี และโดยเฉพาะเมื่อ "เท" งานของกระผม/อาตมภาพไป ซึ่งกระผม/อาตมภาพได้นำมาบอกกล่าวให้พระภิกษุสามเณร ตลอดจนกระทั่งญาติโยมทั้งหลายได้ฟังไปแล้ว
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    ปรากฏว่าเรื่องนี้สะเทือนเลื่อนลั่นมาก ไม่ว่าจะในแวดวงวุฒิสภา ในแวดวงนักการเมือง ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าในระดับศาลากลางจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด การท่องเที่ยวจังหวัด จนกระทั่งคณะสงฆ์จังหวัด ต่างก็ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน..!

    ในเมื่อทางด้านคณะกรรมาธิการฯ โทรมาไล่บี้ว่าผู้ใดเป็นคนผิด ก็ต้องหาข้อมูลให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะละเอียดได้ แต่ปรากฏว่าคุณสมมารถเจ้าของงานไม่รู้เรื่อง เนื่องเพราะว่าเป็นการติดต่อประสานงานตรงไปที่อำเภอทองผาภูมิเลย กระผม/อาตมภาพจึงได้ตัดปัญหา ไม่ให้ท่านวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรีต้องมาเครียด

    หลังจากนั้นก็เข้าสู่พิธีการเปิด โดยประธานในครั้งนี้ก็คือคุณศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเคยร่วมงานกันมาหลายครั้งแล้ว คุณศศิฑอณร์ยังบอกว่า "ระลึกถึงหลวงพ่ออยู่เสมอ หลวงพ่อทำงานด้านชุมชนคุณธรรมได้โดดเด่นมาก"

    หลังจากนั้นแล้ว ท่านรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ท่านได้กล่าวต้อนรับ โดยมีคุณสมมารถ คำถนอมกล่าวรายงาน

    ทางด้านคุณศศิฑอณร์ก็ได้บอกกล่าวว่า การอบรมครั้งนี้นั้น เราไม่ได้อบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น แต่เราอบรมนักเล่าเรื่องท้องถิ่น เพราะว่าแต่ละท้องถิ่นนั้นต่างก็มีประวัติ มีเนื้อหา มีเรื่องราว ซึ่งเป็นเสน่ห์ของแต่ละชุมชนอยู่ โดยเฉพาะต้องการให้ทุกชุมชนนำเสนอในสิ่งที่เด่น ที่ดี ที่งามของแต่ละแห่งออกมา เพื่อให้แขกบ้านแขกเมืองหรือผู้มาเยี่ยมเยือนได้รู้ว่า ในชุมชนแต่ละแห่งมีอะไรที่ดีงามบ้าง จึงได้มาทำการเปิดโครงการอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชนก็ดี นักเล่าเรื่องชุมชนก็ดี ตลอดจนกระทั่งเจ้าบ้านที่ดีก็ตาม เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้เรียนรู้ถึงวิธีการ และไปศึกษาดูงานจากสถานที่ซึ่งเขาประสบความสำเร็จแล้ว จะได้นำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเอง

    เมื่อเสร็จพิธีเปิด มีการบายศรีสู่ขวัญ กระผม/อาตมภาพในฐานะผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ ท่านพระครูกฤติธี ก็มอบหน้าที่ให้กระผม/อาตมภาพเป็นผู้ผูกข้อมือให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ แต่เนื่องจากว่าผู้เข้ารับการอบรมตลอดจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ ๙๘ เปอร์เซ็นต์ล้วนแล้วแต่เป็นสุภาพสตรี กระผม/อาตมภาพจึงได้แค่ผูกข้อมือให้กับท่านรองผู้ว่าฯ ท่านรองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนท่านอื่น ๆ นั้นก็ได้แต่วางลงในมือ แล้วก็ให้ไปผูกกันเอง
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    ตรงจุดนี้ต้องบอกว่าเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ดีมาก เพราะว่าการบายศรีสู่ขวัญนั้น กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกกับท่านทั้งหลายว่าเป็นภาษาที่โบร่ำโบราณมาก ถ้าถามว่า โบราณถึงขนาดไหน ? ก็โบราณถึงขนาดที่สามารถใช้ติดต่อกับผีกับเทวดาได้..!

    ภาษาที่ว่าก็คือเพลงร้องประกอบการรำในการเรียกขวัญ ก็คือ "มาเย้อ..ขวัญเอยฯ" คำว่า มาเยอหรือมาเย้อ ก็คือ มาเถิด แปลว่าขวัญของเรา ไม่ว่าจะไปตกอยู่ในที่แห่งหนใด ในป่าในเขา ในต่างบ้านต่างเมืองใดก็ตาม บัดนี้เจ้าของขวัญได้มานั่งอยู่ ณ ที่นี้แล้ว ขอให้ขวัญทั้งหลายของเรากลับคืนเข้าสู่ร่างกายด้วยเถิด เพื่อความเป็นมิ่งขวัญ เป็นศิริมงคลแก่เจ้าของขวัญนั้น ๆ

    เรื่องนี้ก็เป็นที่อัศจรรย์มาก เพราะว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ผู้ที่สามารถติดต่อกับสิ่งลี้ลับได้ ต่างก็มีความรู้ในเรื่องนี้เช่นกัน แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็มีการกล่าวถึงสิริ คือมิ่งขวัญประจำองค์เศรษฐี ซึ่งมีผู้มองเห็นแล้วพยายามที่จะขโมยไป แต่ว่าเนื่องจากไม่ใช่บุญของตนเอง มิ่งขวัญนั้นจึงเลื่อนหนีไปเรื่อย ๆ ได้

    ส่วนในทางด้านประเทศจีนนั้น มีความเชื่อถึงเรื่องของ ๓ ขวัญ ๗ วิญญาณของบุคคลเป็นปกติอยู่แล้ว ทางด้านบรรพบุรุษของเราที่สามารถติดต่อกับผีกับเทวดาได้ ก็ย่อมมีความรู้ในเรื่องนี้เช่นกัน

    ดังนั้น..บุคคลที่เกิดอะไรขึ้นอย่างกะทันหัน อย่างเช่นว่าเกิดอุบัติเหตุก็ดี ได้รับบาดเจ็บสาหัสมาก็ตาม ตลอดจนกระทั่งตกใจจากเหตุการณ์ต่าง ๆ จนเกิดอาการ "ขวัญหนี" ขึ้นมา แล้วทำให้ไม่แข็งแรง มีการเจ็บไข้ได้ป่วยออด ๆ แอด ๆ เมื่อมีหมอขวัญหมอทำมาทำการเรียกขวัญให้ ก็มักจะหายวันหายคืนเช่นกัน
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    เรื่องเหล่านี้นับว่าเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ไม่สามารถจะดูถูกกันได้ เพราะว่าในช่วงที่กระผม/อาตมภาพยังเด็ก ๆ อยู่ บรรดาหมอขวัญต่าง ๆ นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่กระผม/อาตมภาพก็ยังเคยผ่านพิธีเรียกขวัญรับขวัญต่าง ๆ มาแล้ว

    ดังนั้น..เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ที่ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรีได้จัดการต้อนรับผู้รับการอบรม ซึ่งส่งมาร่วมงานโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรีก็ดี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีก็ดี ตลอดจนกระทั่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรีก็ตาม ซึ่งรวมกันอยู่ในกลุ่มที่ ๑ ของสำนักงานเขตภาคกลางตะวันตก ก็ทำได้ถูกต้องทั้งตามแบบนิยมของโบราณเขา ตลอดจนกระทั่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือกันมา จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง

    เมื่อถ่ายรูปหมู่ด้วยกันเรียบร้อยแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ได้ขอตัวเดินทางไป เพื่อปฏิบัติกิจธุระของตนเองต่อไป

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...