เรื่องเด่น อุปจารสมาธิ : หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 5 พฤษภาคม 2013.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    ตอนที่ ๓
    อุปจารสมาธิ

    lp.png

    ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย และท่านสหธรรมิกทั้งหลาย
    เวลานี้ ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานแล้วซึ่งพระกรรมฐาน
    สำหรับวันนี้ ก็จะขอนำอานาปานุสสติกรรมฐานมาพูดกับบรรดาท่านทั้งหลายอีก

    เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานนี่ เป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
    ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะเจริญพระกรรมฐานกองใด
    ถ้าหากว่าไม่ใช้อานาปานุสสติกรรมฐานเป็นบาทแล้ว
    ผลแห่งการเจริญพระกรรมฐานกองนั้นจะไม่มีผลสำหรับท่าน

    วันนี้ก็จะขอพูดต่อไปจากอาการของขณิกสมาธิ
    เมื่อวันก่อนได้พูดไปในรูปของขณิกสมาธิ แต่ทว่าสำหรับวันนี้ จะพูดไปถึงอุปจารสมาธิ
    แต่ก่อนที่จะนำเรื่องนั้นขึ้นมาพูด ก็จะขอนำเอาอุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐานมาพูดเสียก่อน

    คือว่าอุปสรรคของอานาปานุสสติกรรมฐานนี่มีมาก เนื่องว่าเป็นกรรมฐานที่มีความละเอียด
    ฉะนั้น จะต้องต่อสู้กันหนัก ถ้าเราสามารถต่อสู้กับอานาปานุสสติกรรมฐานได้
    กรรมฐานกองอื่นๆ ก็ไม่มีความสำคัญ
    เราสามารถจะทำกรรมฐานอีก ๓๙ กองได้ภายในกองละ ๗ วัน เป็นอย่างช้า

    อุปสรรคอันดับแรก ก็คือว่า การทรงอารมณ์ไม่ละเอียดพอ นั่นก็คือลมหยาบ

    อานาปานุสสติกรรมฐานนี่อาศัยลมเป็นสำคัญ ถ้าวันใดปรากฏว่าลมหายใจของท่านหยาบ
    วันนั้นจะปรากฏว่าการคุมสติสัมปชัญญะ คือการทรงสมาธิไม่ดีตามสมควร
    จะมีอาการอึดอัด บางครั้งจะรู้สึกว่าแน่นที่หน้าอก
    หรือว่าบางคราวจะมีความรู้สึกคล้ายๆ กับหายใจไม่ทั่วท้อง
    จะมีอาการเหนื่อย หรือว่ามีอาการอึดอัดเกิดขึ้น

    ถ้าอาการอย่างนี้มีแก่ท่านทั้งหลาย หรือว่าเกรงว่าอาการอย่างนี้จะมี
    เมื่อเวลาเริ่มต้นที่จะเจริญพระกรรมฐานคือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
    ให้ท่านทั้งหลายชักลมหายใจยาวๆ สัก ๓-๔ ครั้ง คือหายใจยาวๆ หายใจเข้ายาวๆ
    หายใจออกยาวๆ สัก ๓-๔ ครั้ง เพื่อเป็นการระบายลมหยาบให้หมดไป
    จากนั้นก็เริ่มกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก

    แต่ว่าอย่าลืม การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกนี่
    อย่าบังคับให้หายใจเข้าออกหนักๆ หรือว่าเบาๆ
    อย่าบังคับให้ยาวหรือสั้นด้วยอาการที่ตั้งใจทำอย่างนั้น
    ถ้าหากว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก
    เพราะว่าการเจริญอานาปานุสสติกรรมฐานต้องการสติสัมปชัญญะเป็นใหญ่

    ฉะนั้น ลมหายใจของเราจะหนักก็ดี จะเบาก็ดี จะสั้นก็ตาม จะยาวก็ตาม
    ปล่อยไปตามสภาพของร่างกายที่ต้องการ แต่ทว่าเราเอาจิตเข้าไปรู้ไว้เท่านั้น
    หายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น
    หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ นี่เป็นแบบหนึ่ง

    และอีกแบบหนึ่งในกรรมฐาน ๔๐ ท่านให้กำหนดฐาน ๓ ฐาน
    คือเวลาหายใจเข้า ลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ
    เวลาหายใจออก ลมกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือว่าริมฝีปาก
    ถ้าคนริมฝีปากเชิดจะกระทบริมฝีปาก ถ้าริมฝีปากงุ้มจะกระทบจมูก เป็นความรู้สึก

    แต่ว่าเพื่อความรู้สึกอย่างนี้ ขอท่านทั้งหลายจงอย่าบังคับลมหายใจให้แรง
    ปล่อยไปตามปรกติ แต่เอาจิตติดตามนึกถึงเท่านั้น ขอให้ทำอย่างนี้จะมีผล

    ข้อสังเกต ถ้าเวลาเราหายใจเข้าหายใจออก ความรู้สึกมีแต่เพียงว่ากระทบจมูกอย่างเดียว
    และสามารถจะจับความรู้สึกอย่างนี้ได้นานๆ สักหน่อย
    อาการอย่างนี้ปรากฏพึงทราบว่า นั่นจิตของท่านทรงได้แค่อุปจารสมาธิ

    ถ้าสามารถรู้การสัมผัสสองฐาน คือหายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก
    และหายใจออกรู้กระทบหน้าอก กระทบจมูกสองจุดนี่
    อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่าน เข้าถึงอุปจารสมาธิ

    ถ้ารู้ทั้ง ๓ ฐาน หายใจเข้ากระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ
    และก็เวลาหายใจออก กระทบศูนย์เหนือสะดือ
    กระทบหน้าอก กระทบริมฝีปากหรือจมูก รู้ได้ชัดเจน
    อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌาน นี่เป็นอาการสังเกต

    ถ้าหากว่าอารมณ์จิตของท่านละเอียดยิ่งไปกว่านั้น หรือว่าเป็นปฐมฌานละเอียด
    หรือว่าเป็นฌานที่สอง ฌานที่สาม อย่างนี้ท่านจะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก
    มันไหลไปเหมือนกับกระแสน้ำไหลกระทบไปตลอดสาย
    ทั้งลมหายใจเข้าและหายใจออก อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌานละเอียด
    หรือว่าฌานที่สอง หรือว่าฌานที่สาม

    สำหรับปฐมฌาน ลมยังหยาบอยู่ แต่ทว่าลมรู้สึกว่าจะเบากว่าอุปจารสมาธิ
    พอไปถึงฌานที่สองจะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลงอีก
    ไปถึงฌานที่สาม ลมหายใจที่กระทบรู้สึกว่าจะเบามาก เกือบไม่มีความรู้สึก
    ถ้าเข้าถึงฌานที่สี่ ท่านจะมีความรู้สึกว่าไม่หายใจเลย แต่ความจริงร่างกายหายใจเป็นปรกติ

    ที่ความรู้สึกน้อยลงไปก็เพราะว่า จิตกับประสาทห่างกันออกมา
    ตั้งแต่ปฐมฌาน จิตก็ห่างจากประสาทไปนิดหนึ่ง
    มาถึงฌานที่สอง จิตก็ห่างจากประสาทมากไปหน่อยหนึ่ง
    พอถึงฌานที่สาม ห่างไปมากเกือบจะไม่มีการสัมผัสกันเลย
    ถึงฌานที่สี่ จิตปล่อยประสาท ไม่รับรู้การกระทบกระทั่งทางประสาททั้งหมด
    จึงไม่รู้สึกว่าเราหายใจ ข้อนี้เป็นข้อสังเกต

    ทีนี้ต่อมาก็จะพูดถึงอาการที่จะเข้าถึงอุปจารสมาธิ เมื่อท่านกำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
    จิตจะมีความสงบสงัดดีขึ้นดีกว่า อุปจารสมาธิจะมีความชุ่มชื่นมีความสบาย
    แต่ทว่าจะทรงอยู่นานก็หาไม่ อาจจะทรงอยู่ได้สักหนึ่งนาที สองนาที สามนาที ในระยะต้นๆ
    แต่บางวันมันก็ทรงอยู่ได้ตั้งครึ่งชั่วโมง ตั้งชั่วโมงเหมือนกัน เอาแน่นอนอะไรไม่ได้

    เป็นอันว่าเมื่อจิตของท่านเริ่มมีความสุข มีความรื่นเริง จิตชุ่มชื่นหรรษา
    อาการของปีติมี ๕ อย่าง ที่จะเรียกว่าอุปจารสมาธิ จิตที่เข้าถึงอุปจารสมาธิก็คือจิตมีปีติ
    และก็จิตเข้าถึงสุข ถ้าเข้าถึงสุขเรียกว่าเต็มอุปจารสมาธิ

    อาการของปีติที่ควรแก่การพิจารณา ควรจะทราบนั่นก็คือ หนึ่ง มีขนลุกซู่ซ่า
    ที่เรียกว่าขนพองสยองเกล้า ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ก็จงอย่าสนใจกับร่างกาย
    ขนมันจะลุก ขนมันจะพอง ขนมันจะตั้งขึ้นสูงขึ้นมา ขนมันจะต่ำก็ช่างมัน
    ไม่สนใจกับอาการทางร่างกายทั้งหมด พยายามสนใจกับอารมณ์ที่เราทรงไว้

    ความจริงอาการอย่างนี้ ผมพูดก็พูด เขียนก็เขียนมาแล้ว แต่ก็ยังมีนักปฏิบัติมากท่าน
    เมื่อกระทบกระทั่งกับเรื่องทางกายเกิดขึ้น มักจะมาถามกันบ่อยๆ
    แต่ว่าไม่ใช่คนในสำนัก เป็นคนนอกสำนัก เป็นเหตุให้รู้สึกว่ารำคาญ
    เพราะว่าสันดานของพวกคนที่จะเอาดีเนี่ยเขาฟังกันครั้งเดียว
    หรือว่าดูครั้งเดียว อ่านครั้งเดียวเท่านี้พอ ไม่ต้องมานั่งจ้ำจี้จ้ำไชอะไรกัน

    เมื่อมีอาการขนลุกขนพองเกิดขึ้น จิตจะเป็นสุข
    ตอนนี้ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจว่า จิตเราเริ่มเข้าอุปจารสมาธิคือ ปีติ

    บางท่านอาการอย่างนี้ไม่ปรากฏ จะปรากฏอีกอย่างหนึ่ง คือ น้ำตาไหล
    เวลาเริ่มทำสมาธิน้ำตาไหล บางทีใครเขาพูดอะไรเป็นที่ชอบใจ
    ชื่นใจ ปลื้มใจ น้ำตาก็ไหล มันไหลจนกระทั่งบังคับไม่อยู่ นี่เป็นอาการของปีติที่สอง

    อาการของปีติที่สาม เวลาจิตเริ่มเป็นสมาธิ คำว่าเริ่มเป็นสมาธินี่เอาแน่นอนไม่ได้
    ถ้าคนที่มีอารมณ์คล่อง บางทีทำทำงานอยู่ นึกขึ้นมาอาการมันก็เกิดทันที
    เรียกว่าจิตเข้าถึงสมาธิเร็ว อาการที่สามของปีติก็คือร่างกายโยกไปโยกมา
    โยกข้างหน้าโยกข้างหลัง อย่างนี้เป็นอาการของปีติที่สาม

    ปีติที่สี่ มีอาการตัวสั่นเทิ้มคล้ายกับปลุกพระ หรือมีอาการบางครั้งตัวลอยขึ้นพ้นพื้นที่
    ถ้าอาการอย่างนี้ปรากฏก็อย่าพึงนึกว่า นั่นอาการของการเหาะมันจะมีขึ้น
    ยังไม่ใช่เหาะ เป็นเรื่องของปีติ

    อาการที่ห้าจะมีอาการซาบซ่านซู่ซ่าทางกาย คล้ายๆ กับของในกายมันไหลออกไปหมด
    ตัวกายเบาโปร่ง จะมีความรู้สึกเหมือนว่าตัวใหญ่ขึ้น หน้าใหญ่ขึ้น ตัวสูงขึ้น
    รู้สึกว่ามันซู่ซ่าแต่อารมณ์จิตสบาย อาการอย่างนี้เป็นอาการของปีติที่ห้า

    เมื่ออาการของปีติที่ห้าเกิดขึ้น ตอนนั้นอารมณ์จิตจะเป็นสุข
    ความสุขที่มีขึ้นเราจะบอกไม่ถูก ว่าความสุขนั้นมันจะมียังไง อธิบายไม่ได้
    ขึ้นชื่อว่าความสุขประเภทนี้ในชีวิตของเราจะไม่ปรากฏมีมาเลย
    มันเป็นความสุขสดชื่น ปราศจากอามิสที่คิดถึง
    หมายความว่าไม่ใช่มีความชื่นใจเพราะได้ของมา

    อย่างนี้เขาเรียกความสุขที่เกิดขึ้นจาก นิรามิสสุข คือสุขที่ไม่อิงอามิส
    มันเป็นความสุขผ่องใสสดชื่น มีความสบาย เปรียบเทียบกับอะไรก็เปรียบเทียบไม่ได้
    ถ้าอาการอย่างนี้มีขึ้น แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงอุปจารสมาธิอันถึงอันดับที่สุด
    เป็นการเต็มในขั้นกามาวจรสวรรค์

    อย่าลืมว่า ขณิกสมาธิ เป็นปัจจัยให้เกิดในกามาวจรสวรรค์
    แล้วก็ถึงอุปจารสมาธิเต็ม เป็นการเต็มที่จะขึ้นไปเกิดบนสวรรค์ได้ทุกชั้นตามอัธยาศัย
    เรียกว่าเต็มกามาวจรสวรรค์ ถ้าเลยไปจากนี้ก็เป็นอาการของพรหม

    ขอถอยหลังมาอีกนิดหนึ่ง ขณะที่จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ
    อาจจะเป็นอุปจาระต้น อุปจาระกลางหรืออุปจาระปลายก็ตาม
    อุปจาระต้นที่เรียกว่า ขนพองสยองเกล้า หรือว่าน้ำตาไหล
    ร่างกายโยกโคลง นี่เป็นอุปจารสมาธิขั้นต้น

    อุปจารสมาธิขั้นกลางก็ได้แก่กายสั่นเทิ้มคล้ายๆกับปลุกพระ
    เริ่มรู้ว่ามีร่างกายลอยขึ้น มีอาการซาบซ่าซู่ซ่า ตัวเบา ร่างกายใหญ่
    หน้าตาโต มีจิตสบาย อย่างนี้เรียกว่าอุปจาระขั้นกลาง

    ถ้ามีถึงขั้นอารมณ์ใจเป็นสุขบอกไม่ถูก นี่เป็นอุปจารสมาธิขั้นสูงสุด

    จะเป็นอุปจารสมาธิอันดับใดก็ตาม ในขณะนี้จะมีอาการแปลกๆ เกิดขึ้น
    นั่นก็คือบางครั้งเราจะเห็นแสงหรือสีต่างๆ ปรากฏ
    บางครั้งก็เห็นสีเขียว สีขาว สีแดง สีเหลือง บางครั้งก็มีอาการคล้ายๆ ใครเขาฉายไฟเข้ามาที่หน้า
    บางคราจะรู้สึกว่ามีแสงสว่างทั่วไปทั้งวรกาย มีทั้งข้างหน้าและข้างหลัง

    ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นขอให้ท่านทั้งหลายพึงทราบว่า
    นั่นเป็นนิมิตของอานาปานุสสติกรรมฐาน แต่ว่าบางทีก็อาจจะมีภาพคน
    ภาพอาคารสถานที่ และภาพอะไรก็ตามเกิดขึ้น แต่อาการอย่างนี้จะเกิดขึ้นชั่วขณะเดียวแล้วก็หายไป

    มาในตอนนี้ขอท่านทั้งหลายจงจำไว้ว่า จงอย่าสนใจกับแสงสีใดๆ ทั้งหมด
    อะไรจะเกิดขึ้นก็ช่าง ทำความรู้สึกไว้เสมอว่า เราเจริญกรรมฐานต้องการอารมณ์จิตเป็นสุข
    ต้องการอารมณ์เป็นสมาธิคือจับอารมณ์เดิมเข้าไว้

    แต่ทว่าเรื่องภาพแสงสีนี่ก็รู้สึกว่าเป็นที่น่าหนักใจอยู่นิดหนึ่ง
    เนื่องว่าเป็นของแปลก เป็นของใหม่สำหรับผู้ปฏิบัติ เมื่อเห็นเข้าอดจะตกใจไม่ได้
    พอจิตไปจับภาพและแสงสีนั้นจิตก็เคลื่อน ภาพก็หาย
    ฉะนั้น การเห็นภาพหรือแสงสีในอันดับนี้ ตามเกณฑ์แห่งการปฏิบัติท่านยังไม่ถือว่าเป็นของดี

    แต่ก็มีหลายท่าน อาจจะเป็นหลายสำนักก็ได้ เพราะมีลูกศิษย์ลูกหาของบรรดาท่านทั้งหลาย
    เคยมาถามเสมอๆ ว่าขอท่านได้โปรดพิจารณากรรมฐานที่ฉันได้ ว่ามันเสื่อมไปแล้วหรือยัง
    ก็ได้ถามว่าทำไมจึงถามอย่างนั้น ท่านบอกว่าขณะที่ท่านเจริญกับอาจารย์ของท่าน
    อาจารย์ของท่านบอกว่าจบกิจในการปฏิบัติแล้ว

    ได้ถามว่าการจบกิจในการปฏิบัติ มีอะไรเกิดขึ้นกับใจ
    ท่านก็บอกว่าเห็นภาพแสงสีต่างๆ เห็นเหมือนภาพคนบ้าง แสงสว่างบ้าง
    สีเขียวบ้าง สีแดงบ้าง อย่างนี้ อาจารย์บอกว่าจบแล้ว กรรมฐานมีเท่านี้
    อันนี่ท่านทั้งหลายผมเสียดายความดีของท่านผู้ปฏิบัติ

    ความจริงภาพแสงสีต่างๆ ที่เห็น บางคนก็เข้าใจว่า อาการอย่างนั้น เป็นเรื่องของทิพจักขุญาณ
    ถ้าความรู้สึกมีอย่างนี้ ก็น่าเสียดายอีก เพราะภาพที่ปรากฎ แสงสีที่ปรากฎ ไม่ใช่ทิพจักขุญาณ
    เป็นเรื่องของอารมณ์จิตที่เข้าถึงอุปจารสมาธิ จิตมีสภาพเป็นทิพย์เล็กน้อยเท่านั้น ยังใช้อะไรไม่ได้

    ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลาย จงอย่าสนใจกับภาพและแสงสีต่างๆ
    ถ้าหากว่าอาการอย่างนี้ปรากฏ จงทำความรู้สึกว่าเรายังดีไม่พอ
    อารมณ์จิตของเรายังเข้าไม่ถึงปฐมฌาน ขอท่านทั้งหลายโปรดจำ

    และอีกอาการหนึ่งเท่าที่พูดมา ถ้าหากว่าอาการของจิตของท่าน
    เข้าถึงปีติส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม เช่น ขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหล
    ร่างกายโยกโคลง กายสั่นหรือกายลอย มีอาการซาบซ่าน มีจิตเป็นสุข
    อาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปรากฏกับท่าน

    ขอท่านทั้งหลาย เวลาทำงานทำการก็ดี เดินไปไหนทำกิจธุระใดๆ ก็ดี
    ขณะเมื่อมันเหนื่อย เวลาที่เหนื่อยรู้สึกว่าใจสั่น มันเหนื่อยหนัก นั่งพัก
    พอนั่งพักเริ่มจับลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกทันที
    ทำแบบสบาย จิตจะมีความเป็นสุข แล้วก็อาการเหนื่อยจะหายได้รวดเร็ว
    เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นการระงับทุกขเวทนาทางกาย นี้จุดหนึ่ง

    และอีกจุดหนึ่งขณะที่เราเหนื่อยๆ สมมติว่าวันนี้ผมไปเห็นพระดายหญ้า
    ทำงานกันหลายอย่าง ขณะที่ท่านทำงานกันแบบนั้นท่านก็เหนื่อย
    หาแท่นที่นั่งพัก ที่นั่งพักจะมีเสียงเอะอะโวยวายอะไรก็ช่าง

    พอนั่งพักลงมาแล้วจับลมหายใจเข้าออกทันที พอจับปับ
    อาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอาการของปีติมันจะเกิดขึ้น
    อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าสมาธิได้รวดเร็ว

    อาการอย่างนี้ควรจะฝึกไว้เสมอๆ เพราะมันเป็นประโยชน์มาก
    ทำให้เราคล่องในการทรงสมาธิ เวลาที่จิตถึงฌานสมาบัติ
    เราสามารถจะเข้าฌานได้ตามอัธยาศัย

    อาการเข้าฌานนี่ ถ้าท่านที่เข้าฌานยังต้องการเวลา
    หมายความว่าต้องการจะรู้อะไรต้องการจะสงบจิต เราก็ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง
    หน่อยหนึ่งหรือนานหน่อย หลับตาภาวนาอยู่นาน แล้วฌานจึงจะเกิด
    อย่างนี้ต้องถือว่ายังใช้ไม่ได้

    การทรงสมาธิต้องคล่อง ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า จิตเข้าถึงวสี
    คำว่า วสี คือการคล่องในการเข้าฌานและออกฌาน

    ฉะนั้น การฝึกสมาธิของท่าน ผมจึงบอกว่าจงอย่าหาเวลาแน่นอน
    หมายความว่าเดินไปก็ดี ทำงานอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ตาม หรือแม้ว่าจะดูหนังสือ
    จะฟังเทปก็ตาม จิตจับลมหายใจเข้าออกให้มันทรงตัว

    เวลาเดินบิณฑบาตกว่าจะกลับ มีโอกาสสำหรับเรามาก
    ขณะที่ไปบิณฑบาต ก้าวออกไปบิณฑบาตตั้งแต่ก้าวแรก
    หรือก่อนจะไปจนกระทั่งกว่าจะถึงเวลากลับ จงอย่าปล่อยจิตของท่านให้ว่างจากสมาธิ
    ให้จิตของท่านทรงสมาธิอยู่ตลอดเวลา

    และก็จงอย่าเข้าใจผิดว่าถ้าจิตเป็นสมาธิจะยืนแข็งโด่ ไม่ใช่อย่างนั้น
    ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น จิตเป็นสมาธิ ก็ใช้การกำหนดการก้าวของเท้า
    ก้าวเท้าซ้ายหรือก้าวเท้าขวาก็รู้อยู่ หายใจเข้าก้าวเท้าซ้าย
    หายใจออกก้าวเท้าขวา หรือก้าวเท้าไปรู้ด้วย รู้ลมหายใจเข้าออกด้วย

    ถ้าจะใช้พุทธานุสสติควบก็ดี เวลาก้าวเท้าไปหนึ่งก็พุท ก้าวไปอีกทีก็โธ
    ก้าวไปอีกทีก็พุธ ก้าวไปอีกทีก็โธ ทำอย่างนี้ตลอดไป
    ก็เป็นอันว่าท่านเป็นผู้ไม่ว่างจากอารมณ์ของสมาธิ

    เวลาจะกลับมาฉันอาหาร จะทำอะไรก็ตามอย่าวางสมาธิ
    เวลาจะกินข้าว จะฉันข้าว เวลานี้เราตักข้าว เวลานี้ตักกับข้าว เวลานี้เอาข้าวเข้าปาก
    เวลานี้เราเคี้ยว มีความรู้สึกไปด้วย เวลานี้เราอาจจะไม่รู้ลมหายใจเข้าออก
    แต่รู้อาการที่ทำ อย่างนี้ก็ใช้ได้ เป็นการทรงอารมณ์สมาธิ

    หรือว่าเวลาที่กำลังฉันข้าว เรารู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย
    จะช่วยให้เกิดสมาธิได้ง่าย และก็เป็นการทรงฌานได้ดี

    คือการที่จะเจริญพระกรรมฐานให้ดีนี่เขาไม่ยอมให้เวลาว่าง

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอนก่อนจะหลับ ใช้จับอานาปานุสสติกรรมฐานให้ทรงตัว
    ท่านจะหลับง่าย และให้หลับไปกับอานาปานุสสติกรรมฐาน
    เวลาหลับจะมีความสุข ขณะที่หลับจะถือว่าเป็นผู้ทรงฌานอยู่

    การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกจนหลับ
    ขณะที่จะหลับจิตจะต้องเข้าถึงปฐมฌานหรือฌานสูงกว่านั้น
    จึงจะหลับ และแม้ขณะที่หลับอยู่ก็ถือว่าหลับอยู่ในฌาน ถ้าตายระหว่างนั้นท่านเป็นพรหม

    เวลาที่ตื่นมาใหม่ๆ ท่านจะลุกจากที่นอนก็ตาม หรือไม่ลุกก็ได้ จะนอนอยู่อย่างนั้น
    กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก หรือว่าอยากจะนั่งก็ได้
    แต่ระวังให้ดี การลุกขึ้นมานั่งต้องคุมสติสัมปชัญญะให้ดี

    เมื่อตื่นนอนขึ้นมาแล้วต้องจับลมหายใจเข้าออกทันทีเพื่อทรงสมาธิจิตให้ทรงตัว
    ตอนเช้ามืดพยายามทำให้สงบสงัดให้มากที่สุด
    เป็นการรวบรวมกำลังใจสูงสุด เพื่อประโยชน์แก่การบิณฑบาต

    เมื่อเวลาไปบิณฑบาตอย่าคุยกัน แล้วเวลาเดินไปบิณฑบาตเว้นระยะห่างกันพอคนรอดได้
    สำหรับพระองค์หน้า เคยเดินไปยืนตรงไหนยืนตรงนั้น
    เมื่อเวลาเขาใส่บาตร ถ้าองค์ท้ายยังรับบาตรไม่เสร็จ องค์หน้าอย่าพึ่งก้าวไป
    มิฉะนั้นจะทำให้องค์ท้ายลำบาก ต้องเดินตามเร็วเดี๋ยวก็เหนื่อย
    มันเป็นการดูไม่งามสำหรับชาวบ้าน

    เรื่องนี้ก็เป็นสติสัมปชัญญะหรือว่าเป็นสมาธิเหมือนกันที่ท่านทั้งหลายจะต้องรู้ไว้
    และจำเข้าไว้เพื่อความดีของท่าน

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าท่านทั้งหลายจิตทรงสมาธิไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน
    แล้วก็ตอนเช้ามืดในเวลาที่เดินไปบิณฑบาต ถ้าจิตของท่านทั้งหลายทรงสมาธิอยู่
    สมเด็จพระบรมครูทรงตรัสว่า คนที่เขาใส่บาตรท่านเขาจะมีบุญมาก
    ได้บุญมาก มีความสุขในปัจจุบัน

    ดีกว่าท่านที่ปล่อยให้ใจลอยให้จิตน้อมไปในกามารมณ์หรือโลกียวิสัย
    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะจิตน้อมไปในโลกีย์ เป็นจิตที่เต็มไปด้วยความสกปรก
    เมื่อจิตของเราสกปรก ท่านผู้ให้ก็ได้ของสกปรกไป
    ถ้าจิตของเราทรงสมาธิเข้าไว้ แสดงว่าจิตของเราสะอาดจากบาปอกุศล
    บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนที่สงเคราะห์ก็ได้ดี

    เอาล่ะบรรดาท่านทั้งหลาย สำหรับเวลานี้ก็หมดเวลาเสียแล้ว
    สำหรับวันนี้ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

    ที่มาแสดงกระทู้ - อุปจารสมาธิ : หลวงพ่อฤาษีลิงดำ • ลานธรรมจักร
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 1 พฤษภาคม 2017
  2. chenroom

    chenroom เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    62
    ค่าพลัง:
    +124
    สาธุๆๆ
     
  3. Rei123

    Rei123 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2013
    โพสต์:
    332
    ค่าพลัง:
    +266
    สาธุๆๆ
     
  4. นรวร มั่นมโนธรรม

    นรวร มั่นมโนธรรม สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 ตุลาคม 2017
    โพสต์:
    188
    ค่าพลัง:
    +113
  5. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,398
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,633

แชร์หน้านี้

Loading...