คำภาวนาจำเป็นมั้ย? จำเป็น ถ้าไม่มีคำภาวนา อานาปานี่กรรมฐานทุกกองได้แค่อุปจารสมาธิเท่านั้น ทรงฌานไม่ได้

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Saber, 25 เมษายน 2015.

  1. Saber

    Saber เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    5,941
    กระทู้เรื่องเด่น:
    19
    ค่าพลัง:
    +11,819
    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ
    ถาม : สมัยที่หลวงพ่อท่านอาพาธอยู่ที่ศิริราช มีอยู่คนหนึ่งเขาไปหาหลวงพ่อ ?
    ตอบ : พวกที่ตายโหงนี่ บางรายก็เป็นพวกที่หมดอายุ แต่ส่วนใหญ่ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์นี่ยังไม่หมดอายุ ถ้าหมดอายุแล้วก็ไปรับบุญรับบาปได้ทันที อีกอย่างคือว่าถ้ากำลังบุญมากก็ไปรับส่วนดีเลย ทำบาปมากสูงมากก็ลงไปรับกรรมเลย ไม่ผ่านการตัดสิน พวกผ่านการตัดสินนี่มันกระดำกระด่างจะดำก็ไม่ดำ จะขาวก็ไม่ขาว แต่ว่าพวกผ่านการตัดสินนี่ยังโชคดีนะ โอกาสรอด ๘๐% เพราะว่าพระยายมท่านจะถามละเอียดจริง ๆ ถามนิดถามหน่อยถามล้วงไปเรื่อยมันจะต้องทำดีซะอย่างหนึ่งล่ะ แล้วท่านก็จะส่งไปรับความดีก่อน ทีนี้ถ้าทำดีเล็กน้อยมากอย่าง สุปติฏฐิตเทพบุตร อย่างนี้นี่มัวแต่ไปเพลินกับความดีอยู่ หมดบุญทีนี้ล่ะโดนเต็ม ๆ
    ถาม : อย่างเวลาเช้า ๆ เราแผ่เมตตาตามแบบหลวงพ่อนี่มีอานิสงส์อย่างไรบ้างคะ ?
    ตอบ : อันดับแรกของเรา ๆ จะได้ปัตติทานมัย เป็นการทำบุญประเภทหนึ่ง การทำบุญมี ๑๐ ประเภท ๆ สุดท้ายนี่จะเป็นของกำไรโดยตรง เขาเรียกทิฎฐุชุกัมม์ มีความเห็นถูกว่าพระพุืทธเจ้าสอนดี เราจะทำตามอันนี้ได้กำไรแน่ ๆ
    นอกนั้นก็มีทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล ภาวนามัย บุญเกิดจากการทำสมาธิภาวนา ๓ อย่างนี้จะเป็นบุญใหญ่ที่สุด แล้วหลังจากนั้นจะยังมีบุญเล็ก ๆ ซึ่งจะเรียกว่าเล็กก็ไม่ได้ เพราะว่าถ้าหากว่าเล็กของช้างมันก็ใหญ่ของมดน่ะ บุญเล็ก ๆ ก็ยังมีอปจายนมัย อ่อนน้อมถ่อมตนกับคนอื่น คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนมา เราเห็นก็เย็นตาเย็นใจเกิดความรักความเมตตาเขาใช่มั้ย ? ตัวนี้มันก็ทำให้คนนอบน้อมถ่อมตนเขาได้บุญ ต่อมาก็ปัตติทานมัย ทำบุญแล้วตั้งใจนอบน้อมให้คนอื่นเขา ตัวเราจะทำได้สำเร็จก็ยากแล้ว อุตส่าห์แบ่งปันให้คนอื่น ถ้าจิตไม่ได้ประกอบด้วยความรักความเมตตาจริง ๆ มันก็จะให้เขาไม่ได้
    ในเมื่อให้เขาได้ผลบุญของเรามันก็จะเพิ่มขึ้น ปัตตานุโมทนามัย พลอยยินดีในความดีที่คนอื่นทำ ปกติมันคอยจะอิจฉาเขา แต่อันนี้มันคอยยินดีจริง ๆ ได้บุญจริง ๆ ใช่มั้ย ? ธัมมัสสวนมัย นำไปปฏิบัติ ธัมมเทสนามัย ได้ผลแล้วกลับไปสอนเขาต่อ พวกนี้เขาเรียก บุญกิริยาวัตถุ สิ่งที่ทำให้เกิดบุญ ทำแล้วเป็นบุญเป็นกุศล ทีนี้ของเราที่ว่าตั้งใจอุทิศให้คนอื่นเขา มันก็จะเป็น ปัตติทานมัย ก็คือว่า บุญที่ได้จากการตั้งใจทำความดี แล้วแบ่้งให้คนอื่นเขาไป
    ถาม : ทำตามหลวงพ่อตอนเช้า ๆ หลวงพ่อจะนำแผ่เราก็พยายามทำตาม ?
    ตอบ : มันเป็นวิธีการที่จะได้บุญ อย่างของเรานั่งอยู่คนอื่นเขาถวายสังฆทานเราก็สาธุ มันก็ได้ไปด้วยใช่มั้ย ? มันเป็นวิธีการทำบุญที่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันที่คนที่ทำไม่ได้ กำลังใจไม่ถึงมันจะทำอะไรกันนักหนาวะ เดี๋ยวทำ ๆ ถ้าอย่างนั้นไม่ได้แล้วกำลังใจยังเศร้าหมองไปด้วย
    ถาม : มีพระองค์เล็ก ๆ อยู่หลายองค์ไม่รู้จะทำอย่างไร ?
    ตอบ : แค่คำว่าเล็กน้อยนี่เราก็เจ๊งแล้ว ถ้าหากว่าเป็นรูปพระพุทธเจ้าคำว่าเล็กน้อยไม่มีสำคัญสุด ๆ ทั้งนั้นเลย ถ้ามีมากเกินไปดูแลไม่ทั่วถึง ควรจะทำอย่างไร ?
    หากล่องหาอะไรใส่รวม ๆ กันเอาไว้ให้ดีให้เหมาะสม แล้วเอาขึ้นบูชา ต่อไปอย่าใช้คำว่าเล็กน้อยกับพระนะ เดี๋ยวเจอข้อหาปรามาสพระรัตนตรัย
    สมัยหลวงปู่ปาน ท่านสร้างพระคำข้าวองค์หนึ่งหน้าตัก ๕ นิ้ว ตั้งโต๊ะบวงสรวงชุดใหญ่เลย ทำพิธีบวงสรวง หลวงพ่อก็บอกว่าทำไมแค่พระองค์เล็ก ๆ แค่นี้ต้องตั้งเครื่องบวงสรวงเต็มพิธีชุดใหญ่ขนาดนี้ด้วย หลวงปู่บอกว่า คำว่าพระพุทธเจ้ามีเล็กเหรอ ? หลวงพ่อบอกได้ยินแล้วตกใจ แสดงว่าจิตเราหยาบไปหน่อยใช่มั้ย ? เห็นพระพุทธเจ้าเล็กน้อย จำไว้นะคำว่าเล็กน้อยไม่มี พุทโธ อัปปมาโน ธัมโมอัปปมาโน สังโฆอัปปาโน คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่สามารถจะประมาณได้
    มีลูกศิษย์หลวงพ่อสดวัดปากน้ำได้พระสมเด็จของ ขวัญไปองค์กระจิ๋วหนึ่ง นั่งมอง ๆ มันไม่ถูกใจน่ะ องค์กระจิ๋วหนึ่ง องค์แค่นี้จะคุ้มครองเราได้เหรอ ปรากฎกลางคืนนอนหลับไปฝันเห็นพระสมเด็จวัดปากน้ำองค์ของขวัญนั่นแหละลอยมาโต ขึ้นจนใหญ่จนเต็มจักรวาลเลย แล้วถามว่าแค่นี้พอมั้ย ? (หัวเราะ) สะใจมั้ย ? พุทโธอัปปะมาโน จำไว้คุณพระพุทธเจ้าประมาณมิได้
    ถาม : การถวายสังฆทาน ถ้าเราเอาพระองค์ขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก คุณภาพจะเหมือนกันมั้ยครับ ?
    ตอบ : ถ้าหากว่าจะเอาอานิสงส์กันจริง ๆ พระที่ถวายสังฆทานหน้าตักไม่ควรต่ำกว่า ๔ นิ้วแต่ถ้าหากว่าเราตั้งใจถวายแล้วเป็นองค์น้อย อันนั้นเราจะได้อานิสงส์เป็นพุทธบูชา คือเราได้สร้างพระขึ้นมาองค์หนึ่ง
    หลวงพ่อขอมวัดไผ่โรงวัว ท่านสร้างพระสร้างเอา ๆ องค์เล็กองค์ใหญ่เต็มไปหมด ท่านบอกว่า อานิสงส์ ของการสร้างพระพุทธรูปไม่ว่าองค์โตเท่าภูเขาหรือองค์เล็กเท่าใบหญ้าคา เกิดมากี่ชาติก็จะเป็นผู้ที่ประกอบไปด้วยเดชอำนาจไม่รู้จักจบจักสิ้น พุทธบูชามหาเตชะวันโต เพราะฉะนั้นจะองค์เล็กองค์ใหญ่ก็แล้วแต่ ขอให้เป็นพระพุทธเจ้าเถอะ อานุภาพไม่สิ้นสุดหรอก
    ถาม : อย่างบางทีมันขี้เกียจทีนี้เราพยายามแล้วน่ะค่ะ .....?
    ตอบ : ก็เลิกขี้เกียจ สังเกตดูว่าธรรมะบางส่วน เราพยายาม วันก็แล้ว เดือนก็แล้ว ปีก็แล้วมันก้าวพ้นไม่ได้ อันนั้นห้ามขี้เกียจนะจ๊ะ ต้องทบทวนแล้ว ทบทวนอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ย่ำอยู่กับที่เดิมให้มันชำนาญไปเลย อัน นั้นแสดงว่าสติปัญญาของเรามันยังไม่เพียงพอ ถ้าหากว่าสติ สมาธิ ปัญญามันเพียงพอ เราจะก้าวพ้นตรงจุดนั้นได้ เราต้องหาความชำนาญไปเรื่อย ๆ จนกว่ามันจะพอ ถ้าภาษานักปฏิบัติเขาจะบอกว่า วาระมันยังมาไม่ถึง
    มันเหมือนกับต้นไม้ เราปลูกมันแล้วมันยังไม่ออกดอกออกผลซักที เราจะขี้เกียจไม่ดูแลมันจะไม่ได้ ต้นไม้มันจะตาย เราต้องดูแลมันต่อไป ถึงวาระ ถึงเวลาที่สมควรดอกผลมันจะออกมาเอง เพราะฉะนั้นยิ่งไม่ได้นี่ยิ่งต้องขยัน
    ถาม : อย่างเราปฏิบัติแล้วเราไม่รู้ว่าเราควรจะทำแบบไหนจึงจะตรงกับจริตของเรา ?
    ตอบ : แบบไหนจะตรงกับจริตของเรานี่หาคู่มือปฏิบัติกรรมฐานของ หลวงพ่อมา อ่านแล้วชอบตรงไหนก็ทำตรงนั้นเลย ทำกองนั้นกองเดียว หัวข้อนั้นหัวข้อเดียว เอาให้มันได้จริง ๆ ไปเลยอย่าไปเปลี่ยนใหม่ ถ้าหากว่าเราทำ ๆ ไปแล้วมันยังไม่ได้ เราไปท้อแล้วไปเปลี่ยนใหม่ทำ ๆ ไปยังไม่ได้ ท้อแล้วเปลี่ยนใหม่ อาตมาเปรียบว่ามันเหมือนยังกับว่าขุดบ่อแล้วไม่ได้น้ำ ขุดลงไป ๓ เมตร ๕ เมตร ถ้าเกิดน้ำมันอยู่ ๒๐ เมตรอย่างนี้ เรารู้สึกเหนื่อย รู้สึกท้อแล้วไปเปลี่ยนใหม่ ไปขุดอันนั้น ๓ เมตร ๕ เมตรแล้วเมื่อไหร่มันจะได้ล่ะ
    เพราะฉะนั้นมันจะต้องประเภทต้องตั้งหน้าตั้งตาทำไป ได้สักหัวข้อหนึ่งแล้วอันอื่นมันจะง่าย เพราะว่ากำลังมันเท่ากัน มันแค่เปลี่ยนวิธีการเท่านั้นเอง
    เมื่อวานนี้พี่ชายเขามา พี่ชายคนนี้ก่อนหน้านี้เขาปฏิบัติธรรมะแข็งขันมาก ตั้งใจอย่างเดียวว่าจะไปนิพพาน ครอบครัวก็ไม่มีแล้ว อีตอนนี้ก็มีเมีย ๑ มีลูก ๓ เรียบร้อยไปแล้ว เขามาถามว่าเขาปฏิบัติแล้วไม่ก้าวหน้าจะทำอย่างไร ? ก็บอกว่าพี่ก็ทำอย่างที่อาตมาเคยทำนั่นแหละ
    สมัยก่อนพี่ว่าอาตมาบ้าอย่างไรก็บ้าอย่างนั้นล่ะ แล้วมันก็จะได้เอง พูดง่ายนะ แต่ตอนทำมันเหนื่อยก็ท้อเหมือนกันเปรียบให้ฟัง ถ้ากลัวว่าจะผิดเอาศีลเป็นกรอบ ศีล ๕ ก็ได้ ศีล ๘ ก็ได้
    ถ้าหากว่ายังอยู่ในกรอบของศีล การปฏิบัตินั้นไม่ผิดหรือว่าผิดก็ผิดน้อยเต็มที ในเมื่อมีศีลแล้วพยายามกวดศีลของเราให้บริสุทธิ์อย่าละเมิดศีลด้วยตัวเอง อย่ายุยงส่งเสริมให้คนอื่นทำ อย่ายินดีเมื่อคนอื่นล่วงให้ศีลนั้นขาดลงในเมื่อเราทำละเอียดได้ถึงขั้นนี้ ศีลมันทรงตัว สมาธิก็จะตั้งมั่นได้ง่าย ปัญญาก็จะเกิด
    เพราะว่าจิตของเราถ้านิ่งนี่มันเหมือนน้ำที่นิ่งมันจะมองเห็นได้ เวลาชะโงกไปก็เห็นหน้าตัวเอง คราวนี้พอจิตมันนิ่งปุ๊บ ปัญญามันก็จะเกิด พอ ปัญญามันเกิดจะใช้ไปคุมศีลอีกทีหนึ่ง ในเมื่อยิ่งคุมศีลให้ละเอียด สมาธิก็จะตั้งมั่นได้ง่าย สมาธิยิ่งตั้งมั่น ปัญญาก็ยิ่งเกิด มันจะไล่กวดไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดสุดท้ายของมัน เราก็จะก้าวข้ามในจุดที่เราต้องการได้
    ถาม : ถ้าใจเราอยากทำกสิณนี่ทำได้มั้ยคะ ?
    ตอบ : ได้ทุกคน ถ้าใจรักอยากจะทำอดีตเคยทำมาแล้ว ทีนี้เราเอากสิณ ๑๐ กองนี่เอาคู่มือปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อมา ตั้งใจจุดธูปบูชาหน้าพระรัตนตรัยต่อหน้าหิ้งพระของเรา กราบพระขอบารมีท่านสงเคราะห์ อธิษฐานว่ากสิณกองใดที่เราเคยทำได้แล้วในอดีตแล้ว ถ้าหากว่าทำในปัจจุบันนี้จะได้ผลเร็วที่สุดขอให้เราอ่านแล้วชอบกองนั้นมาก ที่สุดแล้วก็ไล่ไปเลย อาโลกสิณ อากาศกสิณ ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ อาโปกสิณ วาโยกสิณ โลหิตกสิณ ปีตกสิณ นีลกสิณ โอทาตกสิน พอครบ ๑๐ กองเสร็จแล้วชอบอันไหนมากที่สุดก็หาอุปกรณ์มาแล้วก็ทำ
    คราวนี้การทำกสิณนี่มันสำคัญอยู่ตรงที่ย้ำคิดย้ำทำ ยิ่งกว่าพวกโรคจิตอีก ก็คือว่ามันลืมตามอง หลับตาลงนึกถึงมันจะนึกได้แป๊บหนึ่ง พอภาพหายก็ลืมตามองใหม่ พร้อมคำภาวนาอยู่ตลอด คราวนี้พอเลิกจากตรงนั้นไปห้ามลืมนะ ต้องนึกถึงภาพนั้นอยู่เรื่อย ๆ นึกไปพร้อมกับคำภาวนาอยู่เรื่อย ๆ แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งให้เขา อาจจะซัก ๓๐-๔๐% นึกถึงภาพนั้นพร้อมคำภาวนาตลอด ส่วนความรู้สึกอีก ๖๐-๗๐% ก็ทำหน้าที่การงานของเราไป
    ถาม : ต้องแบ่งอย่างไรคะ ?
    ตอบ : ตลอดเวลาจนกว่าภาพนั้นเราจะลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น คราวนี้ก็คอยประคับประคองเอาไว้ให้ดี ถ้ามันหายไปรีบนึกขึ้นมาใหม่ หายไปรีบนึกขึ้นมาใหม่ไปเรื่อย ๆ สมาธิก็จะทรงตัว ตั้งมั่นขึ้นเรื่อย ๆ ภาพนั่นก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จากสีเดิมก็จะจางลง ๆ เป็นสีขาว จากสีขาวก็กลายเป็นขาวทึบ จากขาวทึบก็กลายเป็นขาวใส จนกระทั่งสว่างเจิดจ้าเหมือนกับเรามองดวงอาทิตย์
    คราวนี้ลองอธิษฐานดูให้หายไปก็ได้ ให้มาก็ได้ หรือจะให้ใหญ่ก็ได้ ให้เล็กก็ได้ คราวนี้อธิษฐานดูว่ามันจะมีผลตามนั้นมั้ย ? ถ้าเป็นอาโลกสิณ ก็สามารถทำที่มืดให้สว่างได้ สามารถเห็นนรกเห็นสวรรค์ได้ ถ้าเป็นโอทาตกสิณ ก็สามารถเปลี่ยนสีอื่นเป็นสีขาวได้ สามารถเห็นนรก เห็นสวรรค์ได้ เป็นปีตกสิณ ก็สามารถเปลี่ยนสีอื่นเป็นสีเหลืองได้ สามารถทำของอื่นให้เป็นทองได้ โลหิตกสิณ ก็สามารถเปลี่ยนสีอื่นเป็นสีแดงได้ นีลกสิณ ก็สามารถที่จะเปลี่ยนสีอื่นเป็นสีเขียวเป็นสีดำได้ หายตัวได้เหล่านี้เป็นต้น
    พอทำได้เต็มที่แล้วเราค่อยก้าวข้ามกองใหม่ก่อนจะจับกองใหม่ก็ซ้อมกองเดิมให้ เต็มที่ก่อน มันปุ๊บเดียวเท่านั้นเองนะ ถ้ามันได้คล่องตัวแล้วมันปุ๊บเดียวไม่ถึงวินาที สองวินาทีก็เต็ม แล้วเราก็จับกองอื่นต่อ
    ถาม : แล้วคำภาวนาจำเป็นมั้ยคะ ?
    ตอบ : จำเป็นเพราะว่าคำภาวนาพร้อมกับลมหายใจเข้าออกสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีอานาปานี่กรรมฐานทุกกองได้ประมาณแค่อุปจารสมาธิเท่านั้นล่ะ ทรงฌานไม่ได้

    ถาม : ..............................
    ตอบ : ถ้ามันเต็มที่ของฌานมันก็จะได้ฌาน ๔
    ถาม : ความรู้สึกมันได้ขนาดไหน ?
    ตอบ : ถ้าภาพกสิณนั้นสว่างเจิดจ้าเหมือนกับเรามองกระจกสะท้อนแสดงอาทิตย์นั่นคือ ฌาน ๔ แล้ว ส่วนเรื่อง ๓ ฐาน ๗ ฐานอะไรนั่นไม่ต้องไปคิดถึง เพราะว่าถึงเวลาบางทีคำภาวนามันหายไปเฉย ๆ เราก็แค่กำหนดรู้ตามภาพมันเท่านั้นว่า ตอนนี้มันเป็นอย่างนี้ ตอนนี้มันเป็นอย่างนี้
    ถาม : จำเป็นต้องทำอานาปาด้วยเหรอคะ ?
    ตอบ : จำเป็นต้องใช้เลย กรรมฐานทุกกองอีก ๓๙ กอง ถ้าไม่ได้อานาปานสติควบด้วยอย่างเก่งก็ได้แค่อุปจารสมาธิ ชอบทำกสิณก็ดีเพราะว่ากสิณเป็นพื้นฐานของฤทธิ์ พอได้กสิณคล่องแล้ว ต่อไปเป็นสมาบัติ ๘ สมาบัติ ๘ นี่เรายกกสิณขึ้นมากองหนึ่ง แล้วเพิกภาพกสิณเสีย ทำอรูปฌานให้เกิด
    ถาม : ทำมาตอนนี้ตัวมันโยกไปมาแล้วสงสัยว่าทำไมมันถึงติดอยู่แบบนี้ ?
    ตอบ : ต่อไปลืมมันไปเลย ไม่ต้องไปสนใจมัน ตามรู้มันอย่างเดียว มันโยกก็ให้มันโยก จะเป็นจะตายหัวโขกพื้นอีท่าไหนหกคะเมนตีลังกาก็ช่าง อาตมาเองเฉพาะโยกนี่เดือนกว่า แต่ว่าน้ำตาไหลนี่เช้ายันเย็นเช็ดหน้าจนแสบไปหมด เพราะมันดันผ่าไปไหลที่สายลมพอดี ผู้ชายตัวเท่าควายนั่งร้องไห้ตรงหน้าพระ จะกลั้นมันไว้พอคิดจะกลั้นมันหยุดเลยนะ แต่หลวงพ่อท่านบอกว่าไม่ได้นะลูกต้องปล่อยให้เต็มที่ไปเลย เพราะถ้าไปกลั้นมันเอาไว้พออารมณ์ใจมันถึงทีตรงนี้ น้ำตามันจะไหลอีกก็เลยปล่อยมันเต็มที่ก็เช็ดไปเรื่อย คนโน้นมาก็ทิชชุ คนนี้มาก็ทิชชุ เช็ดไปเช็ดมาหน้าแสบหมด กว่าจะเลิกก็ ๕-๖ โมงเย็นโน่น
    ตอนนั้นหลวงพ่อท่านเล่าเรื่องพระนางเรือล่ม เสร็จแล้วมันเห็นภาพพอดี เพราะตอนที่เรือพระประเทียบล่มลงน่ะ ท่านว่ายน้ำออกมาแล้วหันกลับไปเห็นลูกไม่ได้มาร้องคำเดียวว่าลูก แล้วว่ายกลับมาไปควานไปหาอีท่าไหนไม่รู้ จมลงไปด้วย มันก็เลยน้ำตาไหลโจ๊ก เห็นชัด ๆ ว่าความรักของแม่ขนาดไหน ตัวเองตายก็ไม่ว่า ตั้งใจกลับไปเพื่อช่วยลูกอย่างเดียว เลยนั่งร้องไห้ น้ำตาไหลจ๊อก
    ตอนนั้นปีติมันเกิดขึ้นพอดี มันจ้องจังหวะมานานแล้วล่ะ มันจะเล่นจังหวะไหน มันเล่นจังหวะนั้นพอดี แหม...มันเล่นไหลได้ไหลดี พอเลิกร้องไห้หิวน้ำเป็นบ้าเลย (หัวเราะ) ตั้งใจจะกลั้นล่ะ ทีนี้หลวงพ่อท่านบอกให้ปล่อย เราเชื่อพ่อซะจนชินปล่อยก็ปล่อยก็ฟาดมันซะเต็มที่ไปเลย
    แต่ตอนผรณาปีตินี่มันบวม มันลอย ปีตินี่มันลอยมันร่วง มันระเบิด นี่มันเป็นบ้าเลย ที่บางคนบอกว่าฌานระเบิดมันไม่ใช่หรอก ตัวมันพองขึ้นใหญ่ขึ้น จนรับไม่ไหวระเบิดกลายเป็นจุลไปอย่างนั้นล่ะ หรือบางทีตัวมันก็รั่วเป็นรู มีอะไรไหลซู่ซ่าจากข้างในเต็มไปหมด ไม่รู้อะไรต่อมิอะไรมันไหลเต็มไปหมด ถ้ามันชินซะอย่างอันอื่น ๆ ก็ไม่ต้องไปกลัวมันแล้ว
    ถาม : ......................
    ตอบ : เหตุผลนั่นสำคัญที่สุด หลวงพ่อท่านลาพุทธภูมิเพราะว่า ตอนช่วงนั้นท่านทำหน้าที่เป็นปลัดเหมือนกับเลขานุการส่วนตัวของสมเด็จพระพุฒาจารย์วัดอนงคาราม ตอนนั้นมันเกิดเหตุว่าเจ้าคณะจังหวัดท่านหนึ่งเบียดเบียนพระในจังหวัด วัดไหนมีพระเก่าวัตถุโบราณไปยึดของเขามา ถ้าเขาไม่ไให้ก็จับเจ้าอาวาสสึกซะบ้าง ถอดซะบ้าง
    พอท่านทราบเรื่องท่านก็รายงานไปตามระดับชั้นของทางคณะสงฆ์ พอเรื่องขึ้นไปถึงข้างบนก็เงียบ รายนั้นแทนที่จะโดนถอดหรือว่าโดนลงโทษรายงานทีไรมันได้ตำแหน่งเพิ่มขึ้น ทุกที ๆ หลวงพ่อท่านสืบไปสืบมาจนในที่สุดก็เจอว่า ตัวเป้งเลยเป็นตัวหนุน ท่านก็เลยเกิดสลดใจขึ้นมา โดยวิสัยของพุทธภูมิถ้าเพื่อความสุขส่วนรวม แม้กระทั่งลงนรกก็ยอมทำ ท่านบอกว่าถ้าหากว่าท่านไม่ลาพุทธภูมิเพื่อเป็นพระอริยเจ้าด้วยกำลังใจแบบ นั้นเดี๋ยวท่านต้องฆ่ามันแน่ นี่แหละสาเหตุใหญ่ที่สุด
    ถาม : ผมจำได้ว่า ถ้าใครฆ่ากันแล้วก็ต้องฆ่ากันทุก ๆ ชาติ ในเมื่อหลวงพ่อปรารถนาพุทธภูมิแล้ว คนที่ปรารถนาพุทธภูมินี่นรกปิดประตูแล้ว ทำไม .....(ไม่ชัด).....?
    ตอบ : ไม่ใช่ พุทธภูมินี่ต่อให้ปฏิบัติขนาดไหนก็ตามอารมณ์จะไม่ตัดเป็นพระอริยเจ้าเป็นได้แค่เทียบเท่าเท่านั้น คือทำได้เหมือนแต่มันไม่ใช่ ทีนี้เนื่องจากว่าของท่านทำมาด้วยการบำเพ็ญบารมีด้วยการสละตัวเองเพื่อความ สุขส่วนรวมอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นถ้ามันมีอะไรบางอย่างจำเป็นต้องละเมิดศีลเพื่อความสุขส่วนรวม พุทธภูมิเขายอมไม่ใช่ว่าพุทธภูมิไม่ลงนรก พุทธภูมิเขาไม่กลัวนรก เต็มใจลง
    ถาม : .................................
    ตอบ : อันนั้นเขาพุทธภูมิแท้เลย เขาเสี่ยงต้องใช้ว่าเอาดอกบัวอ่อนเลยนะ เสี่ยงอธิษฐานเลยว่า ถ้าหากว่าความปรารถนาในพระโพธิญาณเขาจะสำเร็จจริงก็ขอให้ดอกบัวนี้บาน แล้วของท่านบานจริง ๆ ดอกบัวตูม ๆ เพิ่งจะเก็บไม่น่าจะบานได้ เลยตั้งใจเผาตัวเองเป็นพุทธบูชา ชาวบ้านผ่านไปผ่านมาทราบเจตนาก็ช่วยกันเผาคือขอบุญด้วย คนผ่านไปผ่านมาถอดเสื้อผ้าบ้างมีข้าวมีของอะไรก็โยนไปเผาร่วมกัน กำลังใจระดับนั้นหายาก ถ้าหากว่าไม่ใช่ทรงสมาบัติจริง ๆ เขาเผาขนาดนั้นก็ดิ้นพราดเท่านั้น แต่ว่าท่านนั่งขัดสมาธิ
    นั่งสมาธิให้เขาเผาอีกองค์หนึ่งก็พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อสร้างพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังไม่เต็มกำลังใจท่านเอาตัวเองเป็นไส้เทียน ใช้ผ้าสำลีพันตัวเองแล้วชุบน้ำมันตั้งใจว่าเราจะจุดไฟนี้เพื่อเป็นพุทธบูชา แล้วก็ให้คนจุดไฟ ตัวเองตั้งสมาธิเพ่งมองเจดีย์ ตั้งใจว่าสิ่งที่เราทำนี่ตั้งใจจะถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ไฟไหม้อยู่ ๗ วันกว่าเชื้อจะหมดแต่ไม่เป็นอะไร เพราะว่ากำลังใจที่เกาะพุทธานุภาพก็เลยรักษาได้
    มีเหมือนกันจะลองมั้ย จะช่วยเผารายนี้เขาพวกพุทธภูมิเหมือนกัน เขาไม่ยอมลา อาตมาเบี้ยวทิ้งเขากลางอากาศ (หัวเราะ) พุทธภูมินี่เขาถือว่าเป็นเพื่อนกันหมด เพราะว่าความปรารถนาอย่างเดียวกันเดินตามรอยกัน
    สมัยครั้งแรกที่เจอหลวงปู่เจ้าคุณพระราชกวีวัดโสมนัส หลวงปู่อ่ำ ครั้งแรกเลยเคาะประตูกุฏิ ท่านโผล่ออกมาถึงท่านถาม เป็นยังไงเพื่อนจำกันได้มั้ย ? นั่นพระโพธิสัตว์จะถือว่าทุกคนเป็นเพื่อนกันหมดก็เลยกราบเรียนท่านไปว่า ผมจำหลวงปู่ไม่ได้หรอกครับ แต่ว่าหลวงปู่ต้องจำผมได้แน่เลย (หัวเราะ) เอาเปรียบคนแก่ หลวงปู่อ่ำ ตอนแรกท่านก็ไม่ทราบว่าท่านปรารถนาโพธิญาณ นั่นก็นิยตโพธิสัตว์ เพราะท่านเป็นช้างปาลิไลยกะ ตรัสรู้เป็นองค์สุดท้ายของภัทรกัปป์ ทีนี้ท่านก็บอกว่ารู้แต่ว่าตอนเรียนบาลีไปถึงตอนที่ช้างปาลิไลยกะออกมาส่ง พระพุทธเจ้า ๆ ตรัสว่า ปาลิไลยกะ ตรงนี้เป็นเขตแดนของมนุษย์แล้วเธออย่าตามตถาคตไปเลย อันตรายจะเกิดขึ้นกับเธอ ขอให้กลับไปเถอะ ช้างปาลิไลยกะเสียใจจนอกแตกตาย
    สมัยนี้คงประเภทหัวใจสลายท่านบอกว่าอ่านมาถึงตรงนี้ทีไรร้องไห้น้ำหูน้ำตา ไหลทุกทีเลย ไม่รู้ว่าทำไมต้องร้อง ทีนี้เวลาที่มันจะรู้มันก็รู้เอาง่าย ๆ ตอนเย็นกำลังนั่งอยู่บนม้าหินอ่อนสบาย ๆ มองตะวันตกดินอยู่ มองเพลิน ๆ ท่านบอกอยู่ ๆ มันมีอีกตัวหนึ่งมันหลุดเดินดุ่ย ๆ ขึ้นฟ้าไปเลยคือ จิตท่านเป็นสมาธิโดยไม่รู้ตัวเพราะมองดูตะวันอยู่ กายในมันก็เลยออกไปเลย
    พอขึ้นไปข้างบนก็เห็นดอกบัวดอกหนึ่งมโหฬาร ก้านบัวใหญ่กว่าเสาอีก ท่านว่าอย่างนั้น อยู่สูงลิบเลยเห็นว่ามีสารพัดสีแล้วดอกบัวก็ลดลงมา ๆ เห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ข้างบนนั้น ถามว่าจำได้มั้ย ? ท่านก็บอกว่า จำไม่ได้เป็นใคร ท่านก็บอกว่าท่านคือพระศรีอาริยเมตตรัย เสร็จแล้วก็เล่าให้หลวงปู่ฟังว่าเคยตั้งความหวังว่าสมัยนั้นอย่างนั้น ๆ



     
  2. solardust

    solardust เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มีนาคม 2013
    โพสต์:
    250
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +1,771
    ???อ่านอย่างนี้หรือเปล่า???
    1..คำภาวนา------->จำเป็นเพราะว่าคำภาวนาพร้อมกับลมหายใจเข้าออกสำคัญที่สุด
    2..อานาปานุสติ---->ถ้าไม่มีอานาปานี่กรรมฐานทุกกองได้ประมาณแค่อุปจารสมาธิเท่านั้นล่ะ ทรงฌานไม่ได้
     
  3. Saber

    Saber เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    5,941
    กระทู้เรื่องเด่น:
    19
    ค่าพลัง:
    +11,819
    ถาม : แล้วคำภาวนาจำเป็นมั้ยคะ ?
    ตอบ : จำเป็นเพราะว่าคำภาวนาพร้อมกับลมหายใจเข้าออกสำคัญที่สุด ถ้าไม่มีอานาปานี่กรรมฐานทุกกองได้ประมาณแค่อุปจารสมาธิเท่านั้นล่ะ ทรงฌานไม่ได้

    ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัติ

    ปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัตินี้ ท่านกำหนดองค์ของปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัติไว้ ๕ อย่าง
    ดังต่อไปนี้
    ๑. วิตก จิตกำหนดนึกคิด โดยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ว่าหายใจเข้าหรือออก ถ้าใช้คำ
    ภาวนา ก็รู้ว่าเราภาวนาอยู่ คือภาวนาไว้มิให้ขาดสาย
    ถ้าเพ่งกสิณ ก็กำหนดจับภาพกสิณอยู่ตลอดเวลา
    อย่างนี้เรียกว่าวิตก
    ๒. วิจาร ถ้ากำหนดลมหายใจ ก็ใคร่ครวญกำหนดรู้ไว้เสมอว่า เราหายใจเข้าหรือหายใจออก
    หายใจเข้าออกยาวหรือสั้น หายใจเบาหรือแรง ในวิสุทธิมรรคท่านให้รู้กำหนดลมสามฐานคือ หายใจเข้า
    ลมกระทบจมูก กระทบอก กระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย หายใจออกลมกระทบศูนย์ กระทบอก
    กระทบจมูกหรือริมฝีปาก
    ถ้าภาวนา ก็กำหนดรู้ไว้เสมอว่า เราภาวนาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ประการใด
    ถ้าเพ่งภาพกสิณ ก็กำหนดหมายภาพกสิณว่า เราเพ่งกสิณอะไร มีสีสันวรรณะเป็นอย่างไร
    ภาพกสิณเคลื่อนหรือคงสภาพ สีของกสิณเปลี่ยนแปลงไปหรือคงเดิม ภาพที่เห็นอยู่นั้นเป็นภาพกสิณ
    ที่เราต้องการ หรือภาพหลอนสอดแทรกเข้ามา ภาพกสิณเล็กหรือใหญ่ สูงหรือต่ำ ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้
    เรียกว่า วิจาร
    ๓. ปีติ ความชุ่มชื่นเบิกบานใจ มีเป็นปกติ
    ๔. ความสุขเยือกเย็น เป็นความสุขทางกายอย่างประณีต ซึ่งไม่เคยมีมาในกาลก่อน
    ๕. เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ตั้งมั่นอยู่ในองค์ทั้ง ๔ ประการนั้นไม่คลาดเคลื่อน
    ข้อที่ควรสังเกตก็คือ ปฐมฌานหรือปฐมสมาบัตินี้ เมื่อขณะทรงสมาธิอยู่นั้นหูยังได้ยินเสียง
    ภายนอกทุกอย่าง แต่ว่าอารมณ์ภาวนาหรือรักษาอารมณ์ไม่คลาดเคลื่อน ไม่รำคาญในเสียง เสียงก็ได้ยิน
    แต่จิตก็ทำงานเป็นปกติ อย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน คือ อารมณ์เพ่งอยู่ โดยไม่รำคาญในเสียง
    ทรงความเป็นหนึ่งไว้ได้ ท่านกล่าวว่า กายกับจิตเริ่มแยกตัวกันเล็กน้อยแล้ว ตามปกติจิตย่อมสนใจ
    ในเรื่องของกาย เช่นหูได้ยินเสียง จิตก็คิดอะไรไม่ออกเพราะรำคาญในเสียง แต่พอจิตเข้าระดับ
    ปฐมฌาน กลับเฉยเมยต่อเสียง คิดคำนึงถึงอารมณ์กรรมฐานได้เป็นปกติ ที่ท่านเรียกว่าปฐมสมาบัติ
    ก็เพราะอารมณ์สมาธิเข้าถึงเกณฑ์ของปฐมฌาน ที่จิตกับกายเริ่มแยกทางกันบ้างเล็กน้อยแล้วนั่นเอง

    http://www.palungjit.org/smati/k40/smabat.htm#ปฐมฌาน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 25 เมษายน 2015

แชร์หน้านี้

Loading...