พระพุทธเจ้า สอนวิธีการปฎิบัติตามลำดับ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย chura, 11 เมษายน 2014.

  1. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    ทรงมีหลักเกณฑ์การฝึกตามลำดับ (อย่างย่อ)

    ดูก่อนพราหมณ์ ! ในธรรมวินัยนี้ เราสามารถบัญญัติกฎเกณฑ์แห่งการศึกษาตามลำดับ การกระทำตามลำดับ และการปฏิบัติตามลำดับ ได้เหมือนกัน (กับที่ท่านวิธีฝึกสอนศิษย์ของท่านให้นับตามลำดับ)

    ดูก่อนพราหมณ์ ! เปรียบเหมือนผู้ชำนาญการฝึกม้า ได้ม้าชนิดที่อาจฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมฝึกให้รู้จักการรับสวมบังเหียนก่อน แล้วจึงฝึกอย่างอื่น ๆ ให้ยิ่งขึ้นไป ฉันใด; พราหมณ์เอย! ตถาคตครั้นได้บุรุษที่พอฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมแนะนำอย่างนี้ก่อนว่า “มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยดีในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นเป็นภัยแม้ในโทษที่เล็กน้อย จงสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด” ดังนี้.

    พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้มีศีล (เช่นที่กล่าวแล้ว) ดีแล้วตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปว่า “มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย : ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว จักไม่ถือเอาโดยนิมิต (คือรวบถือทั้งหมดว่างามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี), จักไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ (คือแยกถือเอาแต่บางส่วนว่าส่วนใดงามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี), บาปอกุศลกล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตามอารมณ์เพราะการไม่สำรวมจักขุอินทรีย์ใดเป็นเหตุเราจักสำรวมอินทรีย์นั้นไว้เป็นผู้รักษาสำรวมจักขุอินทรีย์. (ในโสตินทรีย์คือหู ฆานินทรีย์คือจมูก ชิวหาอินทรีย์คือลิ้น กายินทรีย์คือกาย และมนินทรีย์คือใจ ก็มีข้อความนัยเดียวกัน).

    พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ! ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอยู่เสมอ จงพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉัน ไม่ฉันเพื่อเล่นเพื่อมัวเมา เพื่อประดับตกแต่ง, แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้เพื่อให้ชีวิตเป็นไปเพื่อป้องกันความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์, เราจักกำจัดเวทนาเก่า (คือหิว) เสียแล้วไม่ทำเวทนาใหม่ (อิ่มจนอึดอัด) ให้เกิดขึ้น. ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหารและความอยู่ผาสุกสำราญ จักมีแก่เรา” ดังนี้.

    พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ! ท่านจงประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (ไม่หลับ ไม่ง่วง ไม่มึนชา). จงชำระจิตให้หมดจดสิ้นเชิงจากอาวรณิยธรรมทั้งหลาย ด้วยการเดิน การนั่งตลอดวันยังค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี. ครั้นยามกลางแห่งราตรี สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ (คือ) ตะแคงขวา เท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น. ครั้นถึงยามท้ายแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตให้หมดจดจากอาวรณิยธรรมด้วยการเดินการนั่ง อีกต่อไป” ดังนี้.

    พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง, การแลดู การเหลียวดู,การคู้การเหยียด, การทรงสังฆาฏิบาตรจีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง” ดังนี้.

    พราหมณ์ ! ในกาลใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ (เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า “มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่าละเมาะ โคนไม้ ภูเขา ลำธาร ท้องถ้ำ ป่าช้าป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง). ในกาลเป็นปัจฉาภัตต์ กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า, ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌาคอยชำระจิต จากอภิชฌา ; ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณามีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาท; ละถีนะมิทธะมุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนะมิทธะ มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัว คอยชำระจิตจากถีนะมิทธะ; ละอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่านมีจิตสงบอยู่ในภายในคอยชำระจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะ ;ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า ‘นี่อะไร นี่อย่างไร’ ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย) คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา” ดังนี้.

    ภิกษุนั้น ครั้นละนิวรณ์ห้าประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้ ได้แล้ว, เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่ ๑ มีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่. เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่ ๒ เป็นเครื่องผ่องใสในภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่. เพราะความจางแห่งปีติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่ ๓ อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่าผู้ได้ฌานนี้ เป็นอยู่อุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข. และเพราะละสุข และทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุฌานที่ ๔ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่.

    พราหมณ์เอย! ภิกษุเหล่าใดที่ยังเป็นเสขะ (คือยังต้องทำต่อไป) ยังไม่บรรลุอรหัตตมรรค ยังปรารถนานิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะ ไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่, คำสอน ที่กล่าวมานี้แหละ เป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น. ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว จบพรหมจรรย์แล้วทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงได้แล้ว มีประโยชน์ตนอันได้บรรลุถึงแล้ว มีสัญโญชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบแล้ว, ธรรมทั้งหลาย (ในคำสอน) เหล่านี้ เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม และเพื่อสติสัมปชัญญะ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ด้วย.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 เมษายน 2014
  2. lovepyou

    lovepyou เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 กันยายน 2008
    โพสต์:
    540
    ค่าพลัง:
    +974
    ขอบคุณ ขจกท กระทู้ดีมากๆ เลย
    ขออนุโมทนา สรุปเรายังเรียนการสวมบังเหียนอยู่ใช่มัย : p
     
  3. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    "อนุปุพพิกถา"และอริยสัจ ๔ นี้ ตามประวัติในพระพุทธศาสนาปรากฏว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่มนุษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ไม่ทรงแสดงแก่เทพยดาหรือภิกษุ และผู้ที่จะทรงแสดงนั้น เป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใส เบิกบาน ควรที่จะได้รับผลจากการฟัง ฉะนั้น จึงปรากฏว่าเมื่อได้ฟังจบลงแล้ว จึงได้รับผลคือได้ดวงตาเห็นธรรม.
     
  4. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    ผลการแสดงธรรมโดยอนุปุพพิกถานั้นทำให้มีผู้บรรลุธรรมมากน้อยเท่าใด

    ผลการแสดงธรรมโดยอนุปุพพิกถานั้น ทำให้ผู้ฟังมีจิตสงบ มีจิตอ่อนโยน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน และมีจิตผ่องใส อันสมควรที่จะรับฟังพระธรรมเทศนาขั้นสูงขึ้นไป คือ อริยสัจ ๔ (พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค) กล่าวคือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ ๔” จบแล้ว ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดีฉะนั้น ก็จะเกิดแก่ผู้ฟัง คือ ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล นั่นเอง

    ตัวอย่างข้างล่างนี้ แสดงให้เห็นความสำคัญของการแสดงธรรม “อนุปุพพิกถา”
    ที่ทำให้มีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมากถึงจำนวน ๑๑ นหุต คือ เท่ากับ ๑๑๐,๐๐๐ คน

    [๕๘] ลำดับนั้น ท่านพระอุรุเวลกัสสปลุกจากอาสนะ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า
    ซบเศียรลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า
    พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก,
    พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พระพุทธเจ้าข้า.

    ลำดับนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธทั้ง ๑๒ นหุตนั้น ได้มีความเข้าใจว่า ท่านพระอุรุเวลกัสสป
    ประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิต
    ของพราหมณ์คหบดีชาวมคธทั้ง ๑๒ นหุตนั้น ด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว
    ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือทรงประกาศ ทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษความต่ำทราม
    ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม.
    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์
    มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
    ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค.
    ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
    สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุต
    ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทิน
    ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น. พราหมณ์คหบดีอีก ๑ นหุต แสดงตนเป็นอุบาสก.

    [๕๙] ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราช ได้ทรงเห็นธรรมแล้ว
    ได้ทรงบรรลุธรรมแล้ว ได้ทรงรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ทรงมีธรรมอันหยั่งลงแล้ว
    ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ทรงถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
    ไม่ต้องทรงเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลพระวาจานี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า
    ครั้งก่อน เมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ อย่าง
    บัดนี้ ความปรารถนา ๕ อย่างนั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว.
     
  5. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    อนุปุพพิกถา

    คำว่า อนุปุพพิกถา แปลว่า ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับตั้แต่เบื้องต้นขึ้นไป มี ๕ คือ
    ๑. ทานกถา ถ้อยคำที่พรรณานาทาน
    ๒. สีลกถา ถ้อยคำที่พรรณนาศีล
    ๓. สัคคกถา ถ้อยคำที่พรรณนาสวรรค์
    ๔. กามาทีนวกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอาทีนพคือโทษของกาม
    ๕. เนมขัมมานิสังสกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอานิสงส์ของเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม.

    ถ้อยคำที่พรรณนาทานนั้น ทาน แปลว่า ให้ เป็นชื่อของวัตถุแปลว่าวัตถุที่ให้ เป็นชื่อของเจตนาแปลว่าเจตนาเป็นเหตุให้ ทางพระพุทธศาสนาแสดงทานด้วยมุ่งให้บุคคลทำการบริจาค เป็นการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ หรือ บูชา เป็นการเผื่อแผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นและด้วยมุ่งกำจัดโลภะคือความโลภ มัจฉริยะคือความตระหนี่ในจิตใจของตนด้วย แต่ว่าทานในพระพุทธศาสนาที่จะมีผลมากนั้นต้องประกอบด้วยวัตถุสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือสิ่งที่ให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่ผู้รับตามสมควร ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีโทษ เจตนาสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาดี ตั้งแต่เมื่อก่อนให้ ในขณะที่ให้ และในภายหลังที่ให้แล้ว กับปฏิคคาหกสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยปฏิคาหกคือผู้รับ หมายถึงว่าผู้รับก็ต้องเป็นผู้สมควร เช่น เป็นผู้ที่ควรอนุเคราะห์ เป็นผู้ที่ควรสงเคราะห์ เป็นผู้ที่ควรบูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ทานที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญจึงต้องเป็นทานที่เรียกว่า มีการเลือกให้ ไม่ใช่ให้โดยไม่เลือก คือต้อง เลือกวัตถุ เลือกเจตนา เลือกบุคคลผู้รับ กับต้องดูให้พอเหมาะสม ไม่ทำตนเองให้ต้องลำบากเพราะการให้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทานกถา พรรณนาทานนี้เป็นข้อที่ ๑.

    ต่อจากนั้นก็ทรงแสดง ศีล ตามศัพท์แปลว่า ปกติ หมายถึง ความปรกติทางกาย ปรกติวาจา ปรกติใจ ไม่ถูกกิเลสดึงไปให้ประพฤติทุจริตต่าง ๆ ฉะนั้น จึงต้องมี วิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้นจากความชั่วนั้น ๆ จึงจะเป็นศีล ศีลในพระพุทธศาสนานั้นอย่างต่ำก็คือ ศีล ๕ ไม่แก่ เจตนางดเว้นจากภัยหรือเวร ๕ ประการ ฉะนั้น ศีลจึงเท่ากับเป็นความไม่มีเวร ไม่มีภัย เมื่อรักษาศีล ก็เท่ากับว่า ทำอภัยทาน คือให้อภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย และตัวผู้มีศีลเองก็เป็นผู้ไม่ก่อภัย ก่อเวรขึ้นแก่ตัวเองด้วย พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงศีลนี้ข้อที่ ๒.

    ต่อจากนั้น ก็ทรงแสดง สวรรค์ คำว่า สวรรค์ ก็ออกมาจากศัพท์บาลีว่า สคฺค แปลว่า ที่เป็นที่ข้องเป็นที่ติด ก็ได้ ที่เป็นที่มีอารมณ์อันเลิศ ก็ได้ ตามที่เข้าใจกัน สวรรค์เป็นโลกอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งบุคคลผู้ทำความดีจะพึงเข้าถึงในเวลาที่สิ้นชีวิตไปจากโลกนี้แล้ว และในคัมภีร์ก็แสดงสวรรค์ไว้มาก เช่น สวรรค์กามาพจร ที่แปลว่า ชั้นที่ยังหยั่งลงในกาม ๖ ชั้น แต่สวรรค์ดั่งกล่าวนี้ เป็นเรื่องที่มีแสดงไว้ในตำราเก่าก่อนพระพุทธศาสนา และมาถึงพระพุทธศาสนาก็ยังมีติดมาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่ก็ติดมาไม่หมด คือติดมาบางส่วน.

    อีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสวรรค์ในปัจจุบัน คือ ได้ตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่ง มีความว่า สวรรค์ชั้น ผัสสาตนะ ๖ ชั้น อันเราเห็นแล้ว คือ สวรรค์เกิดขึ้นทางอายตนะ ที่ได้เกิดผัสสะ ได้แก่ – ในที่ใด มีรูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงเห็นได้ด้วยตา ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้น ผัสสายตนะชั้นรูป
    - ในที่ใด มีเสียงที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงได้ยินด้วยหู ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้น ผัสสายตนะชั้นเสียง
    - ในที่ใด มีกลิ่นที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงสูดได้ด้วยจมูก ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้น ผัสสายตนะชั้นฆานะ
    - ในที่ใด มีรสที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงลิ้มได้ด้วยลิ้น ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้น ผัสสายตนะชั้นชิวหา
    - ในที่ใด มีโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ที่จะพึงกรทบถูกได้ด้วยกาย
    ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้น ผัสสายตนะชั้นกาย
    - ในที่ใด มีธรรมคือเรื่องราวต่าง ๆ มีเรื่องรูป เรื่องเสียงเป็นต้น ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ
    ที่จะพึงรู้ได้ด้วยใจ ที่นั้นเป็นสวรรค์ชั้น ผัสสายตนะชั้นธรรมะ คือชั้นเรื่องราว.

    ตามพระพุทธภาษิตนี้ เป็นอันทรงแสดงสวรรค์ ชี้ลงไปกลาง ๆ จะในเวลาไหน คือในบัดนี้ หรือในอนาคต ในโลกนี้ หรือในโลกหน้าก็ตามที เมื่อมีผลเป็นเช่นนี้อยู่ในที่ใด ในที่นั้นก็ชื่อว่าเป็นสวรรค์ เพราะจัดเป็นที่มีอารมณ์อันเลิศ มีอารมณ์ที่งดงาม และในขณะเดียวกันก็เป็นที่ข้องที่ติดเป็นอย่างยิ่งด้วย คือว่าเป็นที่ปรารถนาพอใจอย่างยิ่ง สวรรค์ดังกล่าวมานี้ จำต้องอาศัยทาน อาศัยศีลเห็นตุ พิจารณาดูตามกระแสปัจจุบัน ก็จะเห็นเข้าเรื่องกันได้กับสวรรค์ ๖ ชั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสนั้น คือเมื่อต่างมีทานเฉลี่ยเผื่อแผ่ให้ความสุขแก่กันและกัน และมีศีลไม่เบียดเบียนกันและกัน ให้อภัยกันและกัน ก็จะต่างมีความสุขด้วยกัน เมื่อมีความสุขด้วยกันอยู่ ก็จะมีความเจริญตา เจริญหู เจริญจมูก เจริญลิ้น เจริญกาย เจริญใจ ปราศจากความทุกข์ ที่เกิดจากความคับแค้น และที่เกิดจากการเบียดเบียนกัน ก็เป็นผลที่เรียกได้ว่าสวรรค์อยู่แล้ว สวรรค์นี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นข้อที่ ๓.

    ต่อจากนั้นก็ทรงแสดง กามาทีนพ คือโทษของกาม สวรรค์ได้ชื่อว่าเป็นกาม คือเป็นที่รักใคร่ ที่ปรารถนา ที่พอใจ เป็นอย่างยิ่ง คำว่า กาม นั้น เป็นวัตถุที่เป็นภายนอกดั่งกล่าวนั้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นชื่อของกิเลสในใจของบุคคล คือเป็นชื่อของความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ เมื่อมีความใคร่ ความปรารถนา ความพอใจ เป็นกิเลสกามในจิตใจ วัตถุข้างนอกจึงได้พลอยเป็นกามไปด้วย แต่ถ้าจิตใจไม่มีกิเลสกามอยู่ วัตถุข้างภายนอกก็เป็นวัตถุเฉย ๆ ไม่เป็นกามของผู้นั้น เหมือนอย่างบุคคลสามัญซึ่งมีกิเลสกามอยู่ในใจ เมื่อไปในที่ไหน ในที่นั้นก็เป็นกามของเขา เพราะว่าเป็นที่รักใคร่ ปรารถนา พอใจ แต่พระอรหันต์จะไปในที่ไหน ในที่นั้นไม่เป็นกามของท่าน เพราะว่าท่านไม่มีความรักใคร่ปรารถนาพอใจ สิ่งนั้น ๆ ก็คงเป็นวัตถุนั้น ๆ อยู่โดยธรรมชาติเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงกามจึงมีความหมายสอง หมายถึงวัตถุภายนอกก็ได้ หมายถึงกิเลสในใจก็ได้ แต่ว่าโดยปรกติเมื่อกล่าวอย่างสามัญ คำว่ากามเป็นชื่อของวัตถุภายนอก เพราะเป็นที่ใคร่ ที่ปรารถนา ที่พอใจของบุคคลทั่วไป สวรรค์ แม้จะมีอารมณ์อันเลิศสักเท่าไร แต่ก็ยังเป็นกาม คือเป็นที่น่าใคร่น่าปรารถนา น่าพอใจ และเป็นสิ่งที่ต้องมีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงไป มีเกิด มีดับเหมือนอย่างวัตถุทั้งปวงในโลกถึงจะเปลี่ยนแปลงไปช้า ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น เมื่อไปมีความรักใคร่ปรารถนา พอใจมาก เมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป ก็ยิ่งทำให้ต้องเป็นทุกข์มาก เพราะฉะนั้น อันนี้จึงชื่อว่า อาทีนพ คือ โทษของกาม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงชี้ให้เห็นเป็นข้อที่ ๔.

    ต่อจากนั้น ก็เป็นข้อที่ ๕ ทรงแสดง เนกขัมมะ คือ การออกจากกาม การออกจากกามนั้น ออกทางกาย ได้แก่ การออกบวชประการหนึ่ง ออกทางใจ ได้แก่ การทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนสงบสงัดจากกาม จากอกุศลกรรมทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เป็นเหตุทำให้จิตใจสงบและมีความสุข ตัดกังวลห่วงใยอันเกี่ยวกับกามด้วยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงยกขึ้นโดยเป็นอานิสงส่ของเนกขัมมะเป็นข้อที่ ๕.

    เมื่อได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาทั้ง ๕ ประการนี้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่า ผู้ฟังมีจิตแช่มชื่นผ่องใส ปราศจาก นิวรณ์ คือ กิเลสเครื่องกั้นจิต มีจิตบริสุทธิ์ผ่องใส สมควรที่จะรับพระธรรมที่สูงขึ้นไป เหมือนอย่างผ้าที่ซักให้สะอาดปราศจากมลทินต่าง ๆ ควรที่จะรับน้ำย้อมได้แล้ว จึงได้ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทรงชี้ทุกข์ ชี้สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ชี้นิโรธ ความดับทุกข์ ชี้มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยนัยดั่งในปฐมเทศนานั้น อริยสัจ ๔ นี้ เรียกว่า สามุกฺกํสิกธมฺมเทสนา คือ เป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง เพราะได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยปรกติเมื่อได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ แล้ว ผู้ฟังก็เกิดดวงตาเห็นธรรม ที่ท่านแสดงว่าได้เป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา.

    อนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ นี้ ตามประวัติในพระพุทธศาสนาปรากฏว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่มนุษย์ซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ไม่ทรงแสดงแก่เทพยดาหรือภิกษุ และผู้ที่จะทรงแสดงนั้น เป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใส เบิกบาน ควรที่จะได้รับผลจากการฟัง ฉะนั้น จึงปรากฏว่าเมื่อได้ฟังจบลงแล้ว จึงได้รับผลคือได้ดวงตาเห็นธรรม.

    ดวงตาเห็นธรรมนั้น ตามศัพท์เรียกว่า ธมฺมจกฺขุ ท่านแสดงไว้ตรงกัน คือเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเกิดความเห็นขึ้นอย่างนี้ เรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม หรือว่าเกิดธรรมจักษุ จะฟังเทศน์กัณฑ์ไหน ๆ ก็ตาม เมื่อเกิดดวงตาเห็นธรรม ก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างนี้ พิจารณาดูก็น่าเข้าใจว่า คือ เห็นทุกข์นั้นเอง เห็นเกิดดับเรียกว่าเห็นทุกข์ หรือว่าเห็นทุกข์ คือ เห็นเกิดดับ โดยมาเห็นแต่เกิด อย่างเห็นชีวิตของเราในบัดนี้ เรารู้จักกันแต่เกิด แต่ว่าไม่รู้สึกว่าจะดับ ดับนั้นเราคิดว่าอยู่ข้างหน้า คือว่ายังไม่มาถึง ในปัจจุบันก็คือเกิดและยังดำรงอยู่ ยังไม่เห็นดับเป็นคู่กันไป แต่ความเห็นที่จะเรียกว่าเห็นธรรมนั้น ต้องเห็นดับคู่ไปกับเกิดพร้อมกัน เมื่อเห็นดับคู่ไปกับเกิดพร้อมกันแล้ว กิเลสก็ไม่มีที่ตั้ง จะตั้งความชอบ ความชัง ไว้ที่ไหน ความชอบ ความชัง ที่เป็นกิเลสนั้นจะตั้งอยู่ได้ ต้องตั้งในสิ่งที่เราเห็นว่า ยังมีอยู่ ยังเป็นอยู่ คือในสิ่งที่ยังเกิดอยู่ แต่ว่าถ้าเห็นว่าดับเสียแล้ว กิเลสก็ไม่มีที่ตั้งชอบก็ไม่มีที่ตั้ง เพราไม่มีอะไรจะตั้ง เพราะเห็นว่าดับเสียแล้ว.

    ฉะนั้น โดยปรกติบุคคลจึงยังไม่ชื่อว่าเห็นทุกขสัจจะ จะเห็นก็เห็นเพียงนิดหน่อย ถ้าจะเห็นที่เป็นดวงตาเห็นธรรม จะต้องเห็นได้ตลอด คือเห็นถึงดับ และเห็นให้ได้ในปัจจุบัน เมื่อเห็นถึงดับได้ในปัจจุบัน กิเลสไม่มีที่ตั้งนั่นแหละ จึงชื่อว่าได้ดวงตาเห็นธรรม และผู้ที่ฟังเทศน์จะได้ดวงตาเห็นธรรมนี้ ท่านไม่ได้ฟังเพื่อมุ่งกำหนดว่า เทศน์ว่าอย่างไร เบื้องต้นแสดงอย่างไร ท่ามกลางแสดงอย่างไร ข้างท้ายแสดงอย่างไร คือไม่ได้มุ่งจะจำถ้อยคำ มุ่งแต่เพียงเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง การบรรลุในขั้นแรกในพระพุทธศาสนานั้น จะต้องเกิดดวงตาเห็นธรรมดั่งกล่าวมานี้ เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมในขั้นแรกนี้แล้ว พระพุทธเจ้าจึงจะทรงอบรมให้เกิดปัญญาสูงขึ้นไปอีกจนถึงที่สุด.
     
  6. YOMI_NK

    YOMI_NK Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    217
    ค่าพลัง:
    +91
    ดีมากๆเลยคับ
     
  7. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    การเจริญสัญญา 10 ประการ
    พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เล่ม ๑๖
    ทสก-เอกาทสกนิบาต อาพาธสูตร

    [๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยมท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหา แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่คิริมานันทภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานันทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ สัญญา ๑๐ประการเป็นไฉน คือ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑ ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็อนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง (ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนิจจสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา (ดูเรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนัตตสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็อสุภสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ดูเรื่องดอกไม้อริยะ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอสุภสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าปหานสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็วิราคสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง (อุปธิ = ที่ตั้งแห่งทุกข์ - ธัมมโชติ) ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ (ซึ่งก็คือสภาวะของพระนิพพานที่สัมผัสได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่นั่นเอง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าวิราคสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ นิโรธสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ (วิราคะ และนิโรธ ล้วนเป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน โดยวิราคะเน้นที่ความสำรอกกิเลส ส่วนนิโรธเน้นที่ความดับไม่เหลือของกิเลส - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่านิโรธสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ สัพพโลเกอนภิรตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบายและอุปาทานในโลก (อุปาทาน = ความยึดมั่นถือมั่น - ธัมมโชติ) อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต (อนุสัย = กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน - ธัมมโชติ) ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น (สัพพโลเกอนภิรตสัญญา = การกำหนดหมายในความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพโลเกอนภิรตสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังแต่สังขารทั้งปวง (สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา = การกำหนดหมายในความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ อานาปานัสสติเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น ..... (ดูรายละเอียดในเรื่องอานาปานสติสูตร หมวดวิปัสสนา (ปัญญา) - ธัมมโชติ) .....
    ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอานาปานัสสติ ฯ

    ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหา แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้ แก่คิริมานนทภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานนทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการ นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

    ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่ท่านพระคิริมานนท์ ครั้งนั้นแล อาพาธนั้นของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ท่านพระคิริมานนท์หายจากอาพาธนั้น ก็แลอาพาธนั้นเป็นโรคอันท่านพระคิริมานนท์ละได้แล้ว ด้วยประการนั้นแล ฯ
     
  8. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    พระพุทธเจ้า ประทานโอวาทพระราหุล สูตรเล็ก

    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์


    ภิกขุวรรค
    ๑. จูฬราหุโลวาทสูตร
    เรื่องพระราหุล
    [๑๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขต
    พระนครราชคฤห์. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทชื่อว่าอัมพลัฏฐิกา. ครั้งนั้น
    เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นอยู่แล้ว เสด็จเข้าไปยังอัมพลัฏฐิกาปราสาทที่ท่าน
    พระราหุลอยู่. ท่านพระราหุลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงปูลาดอาสนะและตั้งน้ำ
    สำหรับล้างพระบาทไว้. พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ แล้วทรงล้างพระบาท.
    ท่านพระราหุลถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
    [๑๒๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเหลือน้ำไว้ในภาชนะน้ำหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสกะ
    ท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล เธอเห็นน้ำเหลือหน่อยหนึ่งอยู่ในภาชนะน้ำนี้หรือ?
    ท่านพระราหุลกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า.
    ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็มีน้อย
    เหมือนกันฉะนั้น.
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่งนั้นเสีย แล้วตรัสกะท่านพระราหุล
    ว่า ดูกรราหุล เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเทเสียแล้วหรือ?
    รา. เห็น พระเจ้าข้า.
    พ. ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็น
    ของที่เขาทิ้งเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น.
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล
    เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้หรือ?
    เห็น พระเจ้าข้า.
    ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของที่
    เขาคว่ำเสียแล้วเหมือนกันฉะนั้น.
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า
    ดูกรราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้หรือ?
    เห็น พระเจ้าข้า.
    ดูกรราหุล สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่ ก็เป็นของ
    ว่างเปล่าเหมือนกันฉะนั้น.
    [๑๒๗] ดูกรราหุล เปรียบเหมือนช้างต้น มีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก
    มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม ช้างนั้นเข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง
    ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหู
    ทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น. เพราะการที่ช้างรักษา
    แต่งวงนั้น ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญ
    ยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง
    ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง
    ด้วยหูทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ย่อมรักษาไว้แต่งวงเท่านั้น ชีวิตชื่อว่า
    อันช้างต้นยังไม่ยอมสละแล. ดูกรราหุล เมื่อใดแลช้างต้นมีงาอันงอนงามเป็นพาหนะที่เจริญ
    ยิ่งนัก มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง
    ด้วยเท้าหลังทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหู
    ทั้งสองบ้าง ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง. เพราะการที่ช้างทำกรรมด้วยงวงนั้น
    ควาญช้างจึงมีความดำริอย่างนี้ว่า ก็ช้างต้นนี้แลมีงาอันงอนงาม เป็นพาหนะที่เจริญยิ่งนัก
    มีกำเนิดดี เคยเข้าสงคราม เข้าสงครามแล้ว ย่อมทำกรรมด้วยเท้าหน้าทั้งสองบ้าง ด้วยเท้าหลัง
    ทั้งสองบ้าง ด้วยกายเบื้องหน้าบ้าง ด้วยกายเบื้องหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้งสองบ้าง
    ด้วยงาทั้งสองบ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง ชีวิตชื่อว่าอันช้างต้นยอมสละแล้ว บัดนี้ไม่มีอะไร
    ที่ช้างต้นจะพึงทำไม่ได้ ฉันใด. ดูกรราหุล เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสา
    ทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุล
    เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูกรราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.
    [๑๒๘] ดูกรราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แว่นมีประโยชน์อย่างไร?
    มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า.
    ฉันนั้นเหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน แล้วจึงทำกรรมด้วยกาย
    ด้วยวาจา ด้วยใจ.
    กรรม ๓
    [๑๒๙] ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมนั้นเธอพึงพิจารณา
    เสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมนี้ใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียน
    ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล
    มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ดูกรราหุล ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า
    เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อ
    เบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร
    มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำด้วยกายโดยส่วนเดียว. แต่ถ้าเมื่อเธอ
    พิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ไม่พึงเป็นไป
    เพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กายกรรมนี้เป็นกุศล
    มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนั้น เธอพึงทำด้วยกาย. แม้เมื่อเธอกำลัง
    ทำกรรมด้วยกาย เธอก็พึงพิจารณากายกรรมนั้นแหละว่า เรากำลังทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรม
    ของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียน
    ทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ.
    ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไป
    เพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง
    กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกกายกรรมเห็นปานนั้น
    เสีย. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้
    ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและ
    ผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มกายกรรม
    เห็นปานนั้น. ดูกรราหุล แม้เธอทำกรรมด้วยกายแล้ว เธอก็พึงพิจารณากายกรรมนั้นแหละว่า
    เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อ
    เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็น
    กำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกายกรรมใด
    กายกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อ
    เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้
    กายกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ในพระศาสนา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์
    ทั้งหลายผู้วิญญู แล้วพึงสำรวมต่อไป. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรม
    ใดด้วยกาย กายกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
    และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก
    ดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ด้วยกายกรรม
    นั้นแหละ.
    [๑๓๐] ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา เธอพึงพิจารณาวจีกรรมนั้น
    เสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
    เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์
    เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำ
    กรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
    และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
    ดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอไม่ควรทำโดยส่วนเดียว. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า
    เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อ
    เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
    มีสุขเป็นผลดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอควรทำ. ดูกรราหุล แม้เมื่อเธอกำลังทำกรรม
    ด้วยวาจา เธอก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้นแหละว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้
    ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น
    บ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่
    พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน
    เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร
    มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกวจีกรรมเห็นปานนั้นเสีย. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า
    เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อ
    เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
    มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มวจีกรรมเห็นปานนั้น. ดูกรราหุล แม้เธอทำกรรมด้วยวาจา
    แล้ว เธอก็พึงพิจารณาวจีกรรมนั้นแหละว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้
    ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง
    วจีกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่
    พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียน
    ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง วจีกรรมนี้เป็นอกุศล
    มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ วจีกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงแสดง เปิดเผย
    ทำให้ตื้น ในพระศาสนาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้วิญญู ครั้นแล้วพึงสำรวมต่อไป. แต่
    ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยวาจา วจีกรรมของเรานี้ ย่อมไม่
    เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง
    วจีกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์
    ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน อยู่ด้วยวจีกรรมนั้นแหละ.
    [๑๓๑] ดูกรราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ เธอพึงพิจารณามโนกรรมนั้น
    เสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียน
    ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล
    มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะ
    ทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
    เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
    ดังนี้ไซร้ มโนกรรมเห็นปานนี้ เธอไม่ควรทำโดยส่วนเดียว. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า
    เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
    เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
    มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ มโนกรรมเห็นปานนั้น เธอควรทำ. ดูกรราหุล แม้เมื่อเธอกำลังทำกรรม
    ใดด้วยใจ เธอก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้นแหละว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้
    ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง
    มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. ถ้าเธอพิจารณาอยู่
    พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
    เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์
    เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกมโนกรรมเห็นปานนั้นเสีย. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่
    พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำอยู่ซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียน
    ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล
    มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มมโนกรรมเห็นปานนั้น. ดูกรราหุล แม้เธอ
    ทำกรรมใดด้วยใจแล้ว เธอก็พึงพิจารณามโนกรรมนั้นแหละว่า เราได้ทำกรรมใดด้วยใจแล้ว
    มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียน
    ทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ.
    ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำได้แล้วซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ ย่อมเป็น
    ไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง
    มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงกระดาก ละอาย
    เกลียดในมโนกรรมเห็นปานนั้น ครั้นแล้วพึงสำรวมต่อไป. แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า
    เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใดด้วยใจ มโนกรรมของเรานี้ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อ
    เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง มโนกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
    มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวัน
    และกลางคืน อยู่ด้วยมโนกรรมนั้นแหละ.
    [๑๓๒] ดูกรราหุล สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ได้ชำระกายกรรม
    วจีกรรม มโนกรรมแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้นพิจารณาๆ อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึง
    ชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม. แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล
    จักชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ก็จักพิจารณาๆ
    อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม. ถึงสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
    เหล่าหนึ่งในปัจจุบัน กำลังชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมอยู่ สมณะหรือพราหมณ์
    ทั้งหมดนั้น ก็พิจารณาๆ อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม. เพราะ
    เหตุนั้นแหละ ราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักพิจารณาๆ แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม
    มโนกรรม ดูกรราหุล เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของ
    พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
    จบ จูฬราหุโลวาทสูตร ที่ ๑.
    -----------------------------------------------------
     
  9. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    พระพุทธเจ้า ประทานโอวาทพระราหุล สูตรใหญ่

    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์


    ๒. มหาราหุโลวาทสูตร
    เรื่องพระราหุล
    [๑๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก
    เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคครองอันตราวาสกแล้ว
    ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังนครสาวัตถีเวลาเช้า. แม้ท่านพระราหุลก็ครอง
    อันตรวาสก แล้วถือบาตรและจีวรตามพระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์. ครั้งนั้น
    พระผู้มีพระภาคทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง
    เป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียด
    ก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็นด้วยปัญญา
    อันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้.
    พระราหุลทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค รูปเท่านั้นหรือ ข้าแต่พระสุคต รูปเท่านั้น
    หรือ?
    พ. ดูกรราหุล ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ.
    [๑๓๔] ครั้งนั้น ท่านพระราหุลคิดว่า วันนี้ ใครหนออันพระผู้มีพระภาคทรงโอวาท
    ด้วยโอวาทในที่เฉพาะพระพักตร์แล้วจักเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตเล่า ดังนี้แล้ว กลับจากที่นั้นแล้ว
    นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง. ท่านพระสารีบุตรได้เห็น
    ท่านพระราหุลผู้นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้ว
    บอกกะท่านพระราหุลว่า ดูกรราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่า อานาปานสติภาวนา
    ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก. ครั้งนั้น เวลาเย็น
    ท่านพระราหุลออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
    แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติ
    อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์?
    ธาตุ ๕
    [๑๓๕] ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นภายใน อาศัยตนเป็นของหยาบ
    มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ
    เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย
    อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ
    มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าปฐวีธาตุเป็นภายใน. ก็ปฐวีธาตุ
    เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน. ปฐวีธาตุนั้น
    เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
    ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
    ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ.
    [๑๓๖] ดูกรราหุล ก็อาโปธาตุเป็นไฉน? อาโปธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี.
    ก็อาโปธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโป มีลักษณะเอิบอาบ
    อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
    น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน เป็นอาโป
    มีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าอาโปธาตุเป็นภายใน. ก็อาโปธาตุ
    เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด อาโปธาตุนั้นเป็นอาโปธาตุเหมือนกัน. อาโปธาตุนั้น
    เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
    ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นอาโปธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
    ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในอาโปธาตุ.
    [๑๓๗] ดูกรราหุล ก็เตโชธาตุเป็นไฉน? เตโชธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี.
    ก็เตโชธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน
    อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกาย
    ให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ให้ย่อยไปโดยชอบ หรือ
    สิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายในอาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้า
    ไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าเตโชธาตุ เป็นภายใน. ก็เตโชธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี
    อันใด เตโชธาตุนั้นเป็นเตโชธาตุเหมือนกัน. เตโชธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็น
    จริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็น
    เตโชธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ จิตย่อม
    คลายกำหนัดในเตโชธาตุ.
    [๑๓๘] ดูกรราหุล วาโยธาตุเป็นไฉน? วาโยธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี.
    ก็วาโยธาตุเป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นวาโย มีลักษณะพัดไปมา
    อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้
    ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น เป็นภายใน อาศัยตน
    เป็นวาโย พัดไปมา อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าวาโยธาตุเป็นภายใน. ก็
    วาโยธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด วาโยธาตุนั้นเป็นวาโยธาตุเหมือนกัน. วาโยธาตุ
    นั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่
    ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นวาโยธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว
    ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในวาโยธาตุ.
    [๑๓๙] ดูกรราหุล ก็อากาสธาตุเป็นไฉน? อากาสธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอก
    ก็มี. อากาสธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตนเป็นอากาศ มีลักษณะว่าง
    อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องคอสำหรับกลืนอาหารที่กิน
    ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และช่องสำหรับถ่ายอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม ออกเบื้องล่าง
    หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอากาศ มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ มีลักษณะ
    ไม่ทึบเป็นช่อง มีลักษณะเป็นช่อง อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายใน อันกรรมและกิเลส
    เข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าอากาสธาตุ เป็นภายใน. ก็อากาสธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี
    อันใด อากาสธาตุนั้น เป็นอากาศธาตุเหมือนกัน. อากาสธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ
    ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคล
    เห็นอากาสธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอากาสธาตุ จิต
    ย่อมคลายกำหนัดในอากาสธาตุ.
    ภาวนาเสมอด้วยธาตุ ๕
    [๑๔๐] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อ
    เธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จัก
    ไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง
    มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือ
    เกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอ
    เจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่
    ครอบงำจิตได้.
    [๑๔๑] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอ
    ด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล
    เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง
    น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด
    เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะ
    อันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
    [๑๔๒] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา
    เสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
    ดูกรราหุล เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลาย
    บ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอ
    จงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็น
    ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
    [๑๔๓] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา
    เสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอ
    ได้ ดูกรราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง
    มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้น
    ก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้น เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วย
    ลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
    [๑๔๔] ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนา
    เสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
    ดูกรราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ
    ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ
    ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.
    การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง
    [๑๔๕] ดูกรราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่
    จักละพยาบาทได้. เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละ
    วิหิงสาได้. เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติได้.
    เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะได้. เธอจง
    เจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้. เธอจงเจริญอนิจจสัญญา
    ภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้.
    อานาปานสติภาวนา
    [๑๔๖] ดูกรราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคล
    เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล มีอานิสงส์ใหญ่. ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญอย่างไร
    ทำให้มากอย่างไร จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่? ดูกรราหุล ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี
    อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติ
    หายใจออก มีสติหายใจเข้า. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว
    ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว. เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น
    ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียก
    ว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อม
    สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อม
    สำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออก
    ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อม
    สำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง
    หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียก
    ว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจาก
    ราคะหายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียก
    ว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า. ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่
    สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า. ดูกรราหุล
    อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
    ดูกรราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมอัสสาสะ
    ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็น
    อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัดแล้ว ดับไปไม่ได้ดังนี้.
    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของ
    พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
    จบ มหาราหุโลวาทสูตร ที่ ๒.
    -----------------------------------------------------
     
  10. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
    อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต


    ปริกขารสูตร
    [๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์แห่งสมาธิ ๗ ประการนี้ ๗ ประการ
    เป็นไฉน คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมา-
    *กัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
    เอกัคคตาจิตประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้ เรียกว่าอริยสมาธิ ที่เป็นไปกับ
    ด้วยอุปนิสัยก็มี ที่เป็นไปกับด้วยบริขารก็มี ฯ
    จบสูตรที่ ๒
    .........................................................................................

    จากสูตรนี้ตรงกับคำสอนการปฎิบัติตามลำดับของพระพุทธเจ้า คือ "มรรค8" เราต้อง
    ปฎิบัติตามลำดับเช่นกัน ตั้งแต่มรรคข้อ1-7 เพื่อให้เกิดมรรคสมังคีคือเกิด"สัมมาสมาธิ" สมาธินั้นต้องประกอบด้วยองค์มรรคทั้งเจ็ดข้อเป็นฐาน กระทั่งเป็น"สัมมาสมาธิ"จิตตั้งมั่น
    เป็นฌาณ แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาเพื่อเห็นแจ้งในขันธ์5 ถ้าไปนั่งทำสมถะก่อนเพื่อหวัง
    เอาผลคือฌาณเลย จึงกระทำผิดขั้นตอนคือนั่งทับกิเลสเอาไว้...ฉะนั้นควรศึกษา มรรค
    แต่ล๊ะข้อให้เข้าใจโดยเฉพาะข้อ สัมมาทิฎฐิ ต้องให้เข้าใจอริยสัจสี่ให้ถ่องแท้ก่อน แล้ว
    ปฎิบัติมรรคแต่ล๊ะข้อไปโดยลำดับ และที่สำคัญคือการเจริญสติปัฎฐานสี่อันเป็น"สัมมาสติ"
    ต้องเจริญให้มากๆ ทั้งสติ และสัมปชัญญะเพื่อนำความยินดี ยินร้ายในโลกออกไป กระทั่ง
    เกิด "สัมมาสมาธิ"
     
  11. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    กายคตาสติ เป็นเสาหลักเสาเขื่อนอย่างดีของจิต


    [พุทธวจน]
    กายคตาสติเป็นเสาหลักเสาเขื่อนอย่างดีของจิต
    ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอกและจับลิง, มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อนหรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง. ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ : งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ, สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, ลิงก็จะไปป่า. ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ; ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้ฉันใด ;

    ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดได้อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
    ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ, รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
    หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง, เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
    จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม, กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
    ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ, รสที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
    กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ, สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
    และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ, ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
    ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

    ภิกษุทั้งหลาย คำว่า “เสาเขื่อน หรือ เสาหลัก” นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อ แห่ง กายคตาสติ ..
    ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
    “กายคตาสติ ของเราทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มากกระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป
    กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้ เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี” ดังนี้.
    ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ด้วยอาการอย่างนี้แล.

    สฬา.สํ.๑๘ / ๒๔๖,๒๔๘ / ๓๔๘,๓๕๐.

    [สาธยายโดย พระอาจารย์ คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล]
    กายคตาสติ
    สำรวมอินทรีย์ทำอย่างไร
    เอาจิตอยู่กับกาย เอาจิตผู้รู้อยู่กับกายเข้าไว้ ซึ่งพระองค์เรียกว่า กายคตาสติ(การมีสติอยู่กับกาย) กายคตาสติ เป็นสิ่งที่สำคัญมากถ้าโยมเอาจิตอยู่กับกายโยมกำลังได้อมตะ อมตะเป็นชื่อแทนของนิพพานโยมกำลังได้นิพพาน พระองค์บอกอีกว่ากายคตาสติ อันชนใดหลงลืม อมตะเชื่อว่าอันชนนั้นหลงลืม ถ้าโยมลืมจิตตั้งไว้ในกายโยมกำลังลืมอมตะ ลืมความไม่ตาย ลืมนิพพานนั่นเอง งั้นพระองค์ตรัสอีกว่า กายคตาสตินี้ เป็นเสาเขื่อน เสาหลักของจิต เปรียบเหมือน บุรุษจับสัตว์ 6 ชนิด มาผูกด้วยเชือกเหนียว กับเสาหลักอันมั่นคง
    จับงู จับนก จับจระเข้ จับสุนัขจิ้งจอก จับสุนัขบ้าน จับลิง จับแล้วเมื่อปล่อยไป ไอ้สัตว์พวกนี้ จะยื้อยุดฉุดกันไป เข้าที่หากินที่อาศัยของตน งูจะเข้าจอมปลวก จะเข้จะลงน้ำ นกจะบินขึ้นอากาศ สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกจะเข้าป่าช้า ลิงจะไปป่า
    ในที่สุดไอ้สัตว์ทั้งหมด เมื่อดึงไปดึงมามันจะหมดแรง มันก็จะมานั่งแจ่วนอนแจ่วอยู่ที่เสาเขื่อนเสาหลัก ฉันใดฉันนั้น พระองค์บอกว่า กายคตาสตินี้คือ เสาเขื่อนเสาหลักของจิต จิตคือ วิญญาณขันธ์ จะวนอยู่ใน 4 ธาตุ คือ วนอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร นี่คือ 4 ธรรมชาติ ที่วิญญาณเข้าไปตั้งอาศัย
    วิญญาณเข้าไปอาศัยบนรูป โยมก็รู้ลมหายใจอยู่ ซักพักหลุดไป สัญญาไปคิดอดีตบ้าง สังขารไปคิดอนาคต เวทนา สุข ทุกข์ พอใจ ไม่พอใจ จิตจะวนใน 4ธาตุนี้ ศาสดาให้เอาวิญญาณ ขันธ์ หรือจิตเรา มาตั้งอยู่กับกาย รู้อยู่กับกาย อยู่กับกายทำอะไร ได้บ้าง รู้ลมหายใจ รู้การเคลื่อนไหว อริยาบท พิจารณาอสุภะ รุ้การทำงานในปัจจุบัน สติอธิษฐานการงานที่บอกให้เมื่อครั้งแรก นี่คือ กายคตาสติ แล้วเวลาจิตไปนึกไปคิด เรื่องอะไร ให้รีบทิ้ง รีบวางให้เร็วที่สุด ถ้ายังไม่ได้ทุกความคิด วางความคิดอกุศลก่อน
     
  12. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    1 กายานุปัสนา - การกำหนดรู้กองรูปว่าเป็นเพียงแค่กองรูป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา และกองรูปนี้ ก็ล้วนแต่มีสภาพของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่สวยงาม ฯลฯ
    กายานุปัสนา นี้ จำแนกออกได้ อีก 6 หมวดใหญ่ๆ คือ
    -หมวดอานาปานะ- การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
    -หมวดอิริยาบภ- การกำหนดรู้อิริยาบถใหญ่ทั้ง 4 อย่าง คือ ยืนเดิน นั่งนอน
    -หมวดสัมปชัญญะ- การกำหนดรู้อิริยาบถย่อย เช่น หันซ้ายขวา เคี้ยว กลืน เหยียด ฯลฯ
    -หมวดปฏิกูลมนสิการ - การกำหนดรู้สิ่งปฏิกูลว่าร่างกายนั้นเป็นของสกปรก เช่น ผม ขนเล็บ ฯลฯ
    -หมวดธาตุมนสิการ - การกำหนดรู้ธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ (รู้ตามจริง ว่าร่างกายหรือรูป นี้ เป็นเพียงแค่ธาตุทั้ง 4 มารวมกัน)
    -หมวดนวสิวถิกะ - การกำหนดรู้ซากศพ 9 ประเภท เช่น ซากศพที่พองขึ้นอืด ฯลฯ เป็นต้น
     
  13. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    การเจริญสัญญา 10 ประการ
    พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เล่ม ๑๖
    ทสก-เอกาทสกนิบาต อาพาธสูตร

    [๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยมท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหา แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่คิริมานันทภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานันทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้ สัญญา ๑๐ประการเป็นไฉน คือ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑ ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็อนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง (ดูเรื่องขันธ์ 5 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนิจจสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา (ดูเรื่องอายตนะ 12 ในหมวดธรรมทั่วไป ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนัตตสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็อสุภสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (ดูเรื่องดอกไม้อริยะ ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ - ธัมมโชติ) ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอสุภสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละอองบวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าปหานสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ ก็วิราคสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง (อุปธิ = ที่ตั้งแห่งทุกข์ - ธัมมโชติ) ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ (ซึ่งก็คือสภาวะของพระนิพพานที่สัมผัสได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่นั่นเอง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าวิราคสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ นิโรธสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ (วิราคะ และนิโรธ ล้วนเป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน โดยวิราคะเน้นที่ความสำรอกกิเลส ส่วนนิโรธเน้นที่ความดับไม่เหลือของกิเลส - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่านิโรธสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ สัพพโลเกอนภิรตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละอุบายและอุปาทานในโลก (อุปาทาน = ความยึดมั่นถือมั่น - ธัมมโชติ) อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต (อนุสัย = กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน - ธัมมโชติ) ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น (สัพพโลเกอนภิรตสัญญา = การกำหนดหมายในความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพโลเกอนภิรตสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังแต่สังขารทั้งปวง (สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา = การกำหนดหมายในความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง - ธัมมโชติ) ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ฯ

    ดูกรอานนท์ อานาปานัสสติเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น ..... (ดูรายละเอียดในเรื่องอานาปานสติสูตร หมวดวิปัสสนา (ปัญญา) - ธัมมโชติ) .....
    ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอานาปานัสสติ ฯ

    ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหา แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้ แก่คิริมานนทภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานนทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการ นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

    ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวสัญญา ๑๐ ประการ แก่ท่านพระคิริมานนท์ ครั้งนั้นแล อาพาธนั้นของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ท่านพระคิริมานนท์หายจากอาพาธนั้น ก็แลอาพาธนั้นเป็นโรคอันท่านพระคิริมานนท์ละได้แล้ว ด้วยประการนั้นแล ฯ
     
  14. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    สัมปชัญญะ หรือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย มีความสำคัญมากๆ

    วิธีฝึก อานาปานสติ เพื่อเกิดสัมปชัญญะ หรือความรู้สึกกายทั้งกาย

    การจะฝึกสติให้เกิดเป็นเรื่องยากถ้าขาดความรู้สึกตัว เราต้องมาศึกษาเรื่องรู้สึกทั้งกายเป็น
    สัมปชัญญะ หรือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมให้มากๆก่อนเพราะฐานกำลังของสติ คือสัมปชัญญะ
    หรือความรู้สึกตัวที่กายต่อเนื่อง อันนี้ต้องฝึกควบคู่กันไป เมื่อเรามีสัมปชัญญะหรือ
    ความรู้สึกตัวที่กายเป็นฐาน(กายคตาสติ) แล้วจึงนำสติเข้าไปเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม
    (มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ นำความยินดี ยินร้ายในโลกออกเสีย)

    ฝึกสัมปชัญญะ หรือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม โดยใช้อานาปานสติ เมื่อหายใจเข้า
    ให้กระจายกองลมรู้สึกทั้งกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า หายใจออกกระจายกองลมทั้งกาย
    ให้รู้สึกตั้งแต่ปลายเท้าจรดศีรษะ หรือพิจารณาได้ตามความเหมาะสม เมื่อทำบ่อยๆเรา
    หายใจนิดเดียวก็รู้สึกได้ทั้งกาย ในชีวิตประจำวันให้ทำความรู้สึกตัว หรือสัมปชัญญะที่
    กายทั้งหายใจ หรือ รู้การ เดิน ยืน นั่ง กิน ดื่ม เคี้ยว หรือกลับมารู้ที่ลมหายใจแล้วกระจาย
    กองลมให้ได้ทั้งกายเพื่อให้เกิดความรู้สึกทั้งกาย อันนี้ต้องเพียรทำสม่ำเสมอ...ประกอบ
    กับเอาสติ เข้าไปเห็นความยินดี ยินร้าย และเฉยๆ ที่ใจ เพื่อให้ใจเป็นกลาง หรือเอาสติ
    เข้ามาเห็นกาย ผม ขน หนัง ฟัน เล็บ ก็ช่วยในการเจริญสติ สัมปชัญญะ ...

    ถ้าสายหลวงพ่อเทียน จะใช้การขยับมือเป็นจังหวะแล้วรู้สึกตัว(รู้ทั้งกาย) ขยับมือแต่
    ล๊ะครั้งรู้สึกตัว(รู้สึกตัวทั้งกาย) นี่ก็เป็นการเจริญสัมปชัญญะตามแนวทางหลวงพ่อเทียน
    เมื่อมีความรู้สึกตัวทั้งกายกระทั่งจิตตั้งมั่น(ตรงนี้ต้องเพียรทำให้เย๊อะๆ) ท่านก็สอนให้
    ไปดูจิต(เอาสติไปเห็นจิต) หรือความคิด ถ้ามีความรู้สึกตัว(สัมปชัญญะ)มากก็จะมี
    สติไวเท่าทันความคิดแต่หลวงพ่อเทียนท่านใช้คำว่า"สติ"แทน"สัมปชัญญะ"
    ถ้าไปอ่านหนังสือหลวงพ่อเทียนก็อย่าไปสับสนล๊ะกัน...
     
  15. จิตสิงห์

    จิตสิงห์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤษภาคม 2011
    โพสต์:
    619
    ค่าพลัง:
    +687
    สาธุ สาธุ สาธุ
     
  16. ิ์Fist of the North Star

    ิ์Fist of the North Star เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    564
    ค่าพลัง:
    +385
    อนุโมทนาครับ อานาปานสตินี่เจริญไปถึงพระอรหันต์เลยไหมครับ คุณchura พอจะขยายอานาปานสติ ได้ไหมครับอย่าง --ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า-- อันนี้แปลว่าอย่างไรครับ ขอบคุณครับ
     
  17. ^ _ ^

    ^ _ ^ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2009
    โพสต์:
    62
    ค่าพลัง:
    +50
    อนุโมทนาครับ

    "สัมปชัญญะ หรือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย มีความสำคัญมากๆ":cool:

    เนื้อความเหมือนพระสูตรนี้เลยครับ


    ๘. อังคิกสูตร

    [๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบ
    ด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การ
    เจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้

    สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบ
    ซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้ง
    ตัว
    ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน
    หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริดแล้ว
    พรมด้วยน้ำหมักไว้ ตกเวลาเย็นก้อนจุรณสีตัวซึ่งซึมไปจับติดทั่วทั้งหมด ย่อมไม่
    กระจายออกฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน
    ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติ
    และสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมา
    สมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐข้อที่ ๑


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส
    แห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจาร
    สงบไป มีปีติและสุขที่เกิดแต่สมาธิอยู่ เธอทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม
    ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอ
    ทั่วทั้งตัว
    ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึก
    ที่มีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก
    ด้านเหนือ และฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้ว
    จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศ
    ไหนๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมด ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
    นั่นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติ และสุขอัน
    เกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิด
    แต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบ
    ด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๒


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ
    เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย
    สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้
    ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกาย
    ของเธอทั่วทั้งตัว
    ที่สุขอันปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบ
    เหมือนในกออุบล กอบัวหลวง หรือกอบัวขาว ดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือ
    ดอกบัวขาว บางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ อันน้ำหล่อเลี้ยง
    ดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอด ตลอดเหง้า
    ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งดอกอุบล ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาว ทั่วทุกส่วน
    ที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น
    เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอ
    ทั่วทั้งตัว
    ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบ
    ด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๓


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีสุข
    ไม่มีทุกข์ เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสและโทมนัสก่อนๆ ได้
    มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์
    ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว
    จะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะ
    ด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขา ที่ผ้าขาวจะไม่ถูก
    ต้อง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์
    ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว
    จะไม่ถูกต้อง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการเจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์
    ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๔


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมถือด้วยดี ทำไว้ใน
    ใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา
    เปรียบเหมือนคนอื่นพึงเห็นคนอื่น คนยืนพึงเห็นคนนั่ง หรือคนนั่งพึงเห็นคนนอน
    ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี
    แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นการ
    เจริญสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ข้อที่ ๕


    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อสัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ
    อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุจะโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้ง
    ด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึง
    ความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่โดยแน่นอน เปรียบ
    เหมือนหม้อน้ำตั้งอยู่บนที่รอง เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปากพอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้
    มีกำลัง พึงเอียงหม้อน้ำนั้นไปรอบๆ น้ำก็พึงกระฉอกออกมาได้หรือ ฯ
    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอัน
    ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
    เธอโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วย
    ปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อ
    เหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนสระน้ำที่ภูมิภาคอันราบเรียบ กว้างสี่เหลี่ยม กั้นด้วยทำนบ
    เต็มด้วยน้ำเสมอขอบปากพอที่กาจะดื่มได้ บุรุษผู้มีกำลังพึงเปิดทำนบสระนั้นทุกๆ
    ด้าน น้ำก็พึงไหลออกมาได้หรือ
    ภิ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอันประ
    กอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ เธอ
    โน้มน้อมจิตไป เพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วย
    ปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อ
    เหตุมีอยู่ เปรียบเหมือนรถม้าที่เทียมแล้วจอดอยู่ทางใหญ่ ๔ แยก มีพื้นราบเรียบ
    มีประตักวางไว้ข้างบน คนฝึกม้าผู้ขยันชำนาญในการฝึกขึ้นขี่รถนั้นแล้ว ถือเชือกด้วย
    มือซ้าย ถือประตักด้วยมือขวา พึงขับรถให้เดินหน้าบ้าง ให้ถอยหลังบ้าง ได้ตาม
    ต้องการ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อสัมมาสมาธิอัน
    ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ ที่ภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
    เธอโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วย
    ปัญญาอันยิ่งใดๆ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุ
    มีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังอยู่ว่า เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลาย
    คนก็ได้ ฯลฯ พึงใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เธอย่อมถึงความเป็น
    ผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงได้ยิน
    เสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วย
    ทิพยโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานใน
    ธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของ
    สัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตมีราคะ หรือ
    จิตปราศจากราคะ ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะ ฯลฯ หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็พึง
    รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุ
    มีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติ
    หนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เราพึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้ง
    อาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยาน
    ในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำ
    ลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วย
    ทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
    ด้วยประการฉะนี้ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อ
    เหตุมีอยู่ ถ้าเธอมุ่งหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อัน
    หาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้า
    ถึงอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ฯ
    จบสูตรที่ ๘

    ����ûԮ������� �� - ����ص�ѹ��Ԯ������� ��
     
  18. ิ์Fist of the North Star

    ิ์Fist of the North Star เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    564
    ค่าพลัง:
    +385
    อนุโมทนาคุณRiccia ด้วยครับ พุทธวจนบทนี้พระพุทธเจ้าแสดงอาการของจิตในฌานต่างๆไว้ครบถ้วนเลยครับ ผมหามานานขอบคุณครับ
     
  19. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    ตามสูตร อานาปานสติ ถึงอรหันต์ได้เลยครับ...


    -สำเหนียกว่า จะระงับจิตสังขารหายใจเข้า- สำเหนียกคือ สังเกตุ เห็น
    หรือพิจารณา ก็คือการเข้าไปสังเกตุ จิตสังขาร(จิตปรุงแต่งต่างๆ ความคิดต่างๆ
    ซึ่งเป็นวิตก วิจาร) สังเกตุที่(ใจเรา) สังเกตุเห็น ความจางคลาย ดับไม่เหลือ
    ของจิตสังขาร...
     
  20. chura

    chura เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2005
    โพสต์:
    688
    ค่าพลัง:
    +1,971
    ฝึกสติให้เกิดต่อเนื่อง โดยให้เกิดสติพร้อมกับสัมปชัญญะ(ความรู้สึกตัว)

    ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า สติ ให้ถ่องแท้ซะก่อน ส่วนใหญ่แปลสติ
    ว่า"ระลึก" หรือรู้สึกตัวได้เวลาเผลอตัวคือนึกขึ้นมาได้คือมี"สติ" ถ้าเข้าใจแบบนี้แล้วสติที่
    เกิดทุกหมวดต้องรอให้เกิดสติ คือรู้สึกตัวหลังจากเผลอ เหรอ?

    ผมขอให้ทำความเข้าใจกับ สติ ซะใหม่ว่าสติคือ การเห็นและการเห็น
    นี้มักใช้ควบไปกับความรู้สึกตัวที่เรียกว่า สติสัมปชัญญะ

    พิจารณาหมวด กายานุปัสสนา เราจะพบกว่ามีหมวดต่างๆเช่น อานาปานสติ
    อิริยาบท และหมวดต่างๆอีกหกหมวดใหญ่ ซึ่งแต่ล๊ะหมวดนั้นต้องเนื่องด้วยกายทั้งหมด

    อานาปานสติ ถ้าพิจารณาจากสูตรเต็มๆแล้วลองหาดูมีหลายสูตรจากหลายๆที่
    ต้องเปรียบเทียบทั้งหมดว่าอันไหนตรงที่สุด...เมื่อลองอ่านดูขั้นแรก หายใจเข้าสั้นรู้
    หายใจออกสั้นรู้ หายใจเข้ายาวรู้ หายใจออกยาวรู้ จะเห็นได้ว่าการเห็นลมเข้าหรือลม
    ออกนี้ เพื่อจะให้แยก ผู้เห็นลม อันเป็นตัว สติ และทำความรู้เฉพาะ
    กายทั้งปวงหายใจเข้า ทำความรู้เฉพาะกายทั้งปวงหายใจออก นี่เป็นการฝึกความรู้สึกตัว
    หรือสัมปชัญญะ วิธีคือกระจายกองลมให้ได้ทั้งกาย หายใจเข้า ออกรู้สึกทั้งกาย.

    ทีนี้ขอกล่าววิธีการฝึกสติ นอกจากฝึกเป็นผู้เห็นลมเข้า เห็นลมออกแล้ว ในหมวดอิริยาบท
    เดิน ยืน นั่ง นอน ยังมีวิธีการฝึกให้เกิดสติ ที่ง่ายตรง เมื่อเราเข้าใจคำว่าสติแล้ว
    ว่าคือการเห็น เราเข้าไปเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม นั่นคือในหมวด
    อิริยาบท การที่เราระลึกว่าขณะนี้กำลังนั่ง กำลังยืน กำลังเดิน หรือกำลังนอน จึงเป็นการ
    เข้าไปเห็น

    มาฝึกสติ หรือ การเห็นให้ได้ซะก่อนด้วยวิธีง่ายๆ ขณะลืมตาอยู่เราลองหลับตาและเห็น
    ภาพตัวเองในขณะที่หลับตาอยู่ เช่นเรากำลังอยู่ในท่านั่ง เราก็เห็นตัวเองในท่านั่งอยู่
    แน่นอนว่าเราเห็นด้วยตาใน(เห็นภาพตัวเองแบบลางๆ) การเห็นตัวเองนี่แหละคือ"สติ"
    แต่อย่าลืมว่าเห็นกายตนเอง ต้องมีความรู้สึกตัวหรือสัมปชัญญะทุกครั้งด้วย
    จะเห็นได้ว่าเราเห็นตัวเอง โดยระลึกว่าขณะนี้กำลังนั่ง เดิน ยืน นั่ง หรือ นอน เราจึง
    สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อทำคล่องแล้ว ก็ให้ทำไปในอิริยาบทย่อยๆต่อไป...

    เราสามารถฝึก เจริญสติเห็นกายพร้อมทั้งความรู้สึกตัว สติสัมปชัญญะ ได้ใน
    ทุกท่า เพียงเราระลึกว่าขณะนี้กำลังนั่งสมาธิ ก็เห็นกายนั่งให้ต่อเนื่องพร้อมกับความรู้
    สึกตัว หรือเราจะเดินจงกรมก็ระลึกว่าขณะนี้กำลังเดินจงกรมให้ต่อเนื่องพร้อมทั้งรู้สึกตัว
    ฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทั้ง เดิน ยืน นั่ง และนอน

    สังเกตุ ถ้าเราเห็นกายด้วยความรู้สึกตัวได้ถูกต้อง กายและใจเราจะเบา ไม่รู้สึกอัดอัด
    ลมหายใจก็จะคล่องตัวไม่อึดอัด นี่แสดงว่าทำได้ถูกต้องแล้ว จิตเริ่มเป็นกุศลคือมีความเบา
    เป็นตัวชี้วัด ถ้าอกุศลเกิดคือจิตหนักๆกายหนักๆ ลมหายใจอึดอัดอันนี้เป็น"อกุศล"

    ใจเป็นกลาง วิธีฝึกรักษาใจให้เป็นกลาง ในชีวิตประจำวัน เราสามารถเจริญ
    "สติสัมปชัญญะ"ได้ตลอดเวลา เมื่อเกิดผัสสะกระทบทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
    ใจ แล้วเกิดเวทนา ยินดี ยินร้าย เฉยๆ ตามสูตรคือให้นำยินดี และ ยินร้ายออกไป คือถ้า
    เรามีสติสัมปชํญะที่แก่กล้า เมื่อตากระทบมันจะดับทันทีเรียกว่า อินทรีย์ภาวนาชั้น
    เลิศ
    แต่ว่าสติสัมปชัญญะเรายังอ่อน เมื่อกระทบผัสสะก็จะเกิดเวทนา ไหลไปที่ใจ
    เราก็เข้าไปสังเกตุเวทนาที่เกิดที่ใจเรา เมื่อเห็นยินดี ยินร้ายดับลงจะเหลือ "อุเบกขา"
    หรือ ใจที่เป็นกลาง ที่เค้าบอกหมั่นรักษาใจให้เป็นกลางก็คือวิธีนี้แหละเพราะ
    เมื่ออุเบกขา รวมลงก็จะเป็น อุเบกขาสัมโพชงค์ หรือมหาสติ แต่ว่ายังไม่ถึงเวลาเราก็
    สะสมหรือรักษาใจเป็นกลางไปเรื่อยๆก่อน แต่อย่าไปจมแช่ที่อุเบกขา ต้องฝึกให้มาอยู่
    ที่กายเป็นหลักก่อน(กายคตาสติ) เมื่อเอากิเลสต่างๆเช่น นิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ออก
    ไปจากใจ(สังเกตุที่ใจ เห็นเกิดดับ)กระทั่งกายวิเวก สงบระงับ ก็จะเข้าสู่ฌาณต่างๆ...

    เวทนามีสาม ยินดี ยินร้าย เฉยๆ สังเกตุว่าเราเห็นยินดี ยินร้ายดับลง จิตจะเป็น"อุเบกขา"
    แต่เห็น เฉยๆ ล๊ะทำงัย? เจ้าเวทนาตัว"เฉยๆ" นี่ถ้าเราไม่สังเกตุเห็นมันจะเป็น
    โมหะ หรือ ความหลง ฉะนั้นเมื่อกระทบทางอายตนะ แล้วรู้สึกเฉยๆไม่ยินดี ยินร้าย เราก็
    เห็น"เฉยๆ"ที่ใจ ใจเราก็เป็นอุเบกขาเป็นกลางได้เอง(เห็น เฉยๆด้วยความรู้สึกตัว)...

    การปฎิบัติโดยลำดับ ที่พระพุทธเจ้าทางถ่ายทอด นั้นสำคัญทุกลำดับขั้นตอน เช่นศิลหรือ
    การพิจารณาอาหาร ท่านเปรียบเทียบว่าทานอาหาร เหมือนทานเนื้อลูกตัวเอง คือท่าน
    เล่านิทาน เรื่องพ่อแม่และลูกน้อยที่ต้องเดินทางธุรกันดาร และไม่มีอาหารเลย ต้องตัด
    สินใจว่าจะฆ่าตัวเอง หรือฆ่าลูก กระทั่งลูกตายเอง เลยเอาเนื้อลูกมารับประทาน เพื่อให้
    รอดจากทางธุรกันดารนี้ การทานเนื้อลูก จึงไม่่มีความอร่อย ไม่มีการตรึกว่าจะทำยังงัย
    ให้เนื้อนี้อร่อย มีแต่ทานเพื่อให้มีชีวิตรอดเพียงอย่างเดียว นี่คือการพิจารณาอาหารเมื่อ
    เราทานโดยเอาชนะความอยากอาหารได้ ใจรู้สึกว่าเข้มแข็งขึ้น...

    การตื่นนอนเพื่อมาเดินจงกรม นั่งสมาธิ แนวสติสัมปชัญญะ พระพุทธเจ้าท่านนอนสี่ทุ่ม
    ตื่นตีสอง เพื่อมาทำควาเพียรอันเป็นเครื่องตื่น คือสู้กับกิเลสความอยากนอน นิวรณ์ต่างๆ
    เราสามารถที่จะตื่นมาปฎิบัติธรรมได้มั๊ย นอนสี่ชั่วโมงพอมั๊ย หรือตื่นให้เร็วขึ้นเพื่อมาปฎิบัติ
    ธรรม นี่เป็นความเพียรที่เราควรจะหัดตื่นให้เช้า ค่อยๆเพิ่มเวลาก็ได้น๊ะครับผมทำแล้วตอน
    นี้ตื่นได้ตีสี่ ก็นั่ง สลับเดิน และหาธรรมะมาเปิดฟังแก้ง่วงไปด้วย แต่ความเพียรก็ย่อหย่อน
    ไปบ้าง แต่ต้องเพียรพยายามต่อไป...
     

แชร์หน้านี้

Loading...